นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ สหพันธ์ฯ เข้าไปพรรคก้าวไกล เพื่อยื่นหลักฐานเกี่ยวกับปัญหาส่วยรถบรรทุกและการคอร์รัปชั่น ให้แก่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เก็บไว้เป็นข้อมูลและดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้ต่อไป ซึ่งปัญหาส่วยรถบรรทุกและการคอร์รัปชั่น เป็นปัญหาที่สั่งสมมานานในสังคมไทยมานาน ซึ่งสหพันธ์ฯ ได้ดำเนินการเรียกร้องในการแก้ปัญหานี้มาทุกรัฐบาลตั้งแต่ปี 2539-ปัจจุบัน (ปี 2566) รวมระยะเวลา 27 ปี ซึ่งยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างจริงจัง และยังพบปัญหาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

ประกอบกับปัจจุบันราคาน้ำมันมีการปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนด้านการขนส่งเพิ่มขึ้น เกิดการแข่งขันทางธุรกิจอย่างรุนแรง ด้วยเหตุดังกล่าวการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าพิกัดที่กฎหมายกำหนดจึงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในตอนนี้ และส่วยรถบรรทุกที่เกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ เช่น สติ๊กเกอร์ส่วย คือจ่ายส่วยรถบรรทุกในราคาเหมาจ่าย จากนั้นจะได้รับสติกเกอร์ เพื่อให้สามารถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนดได้ ซึ่งราคาเหมาจ่ายนี้มีตั้งแต่ราคา 2,000-27,000 บาทต่อคันต่อเดือน ซึ่งถ้าจ่ายในราคา 25,000-27,000 บาทต่อคันต่อเดือนจะสามารถวิ่งได้ทุกโครงข่ายถนนทั่วประเทศ และสามารถบรรทุกน้ำหนักเกินได้มากกว่า 100 ตัน ขึ้นอยู่กับสมรรถนะของรถบรรทุก ซึ่งเกินกว่ากฎหมายกำหนดให้รถบรรทุกสามารถบรรทุกน้ำหนักได้ไม่เกิน 50.5 ตัน

นายอภิชาติ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันพบว่ามีรถบรรทุกที่จ่ายค่าสติกเกอร์อยู่ประมาณ 150,000-200,000 คัน จากจำนวนรถบรรทุกที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ประมาณ 1,500,000 คัน ซึ่งในจำนวนที่จ่ายสติกเกอร์ส่วยรถบรรทุกเฉลี่ยต่อเดือนมีมูลค่านับพันล้านบาท ดังนั้นจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้น ตรวจสอบควบคุมผู้ว่าจ้าง และผู้รับจ้างไม่ให้บรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด เพราะปัจจุบันนี้เหมือนกฎหมายเอาผิดได้แต่ผู้รับจ้าง เมื่อเจอกระทำผิดดำเนินการตามกฎหมาย เช่น จับ ปรับเงิน ยึดรถ และจำคุก ส่วนผู้ว่าจ้าง และผู้ที่มีอิทธิพลเกี่ยวกับส่วยสติกเกอร์รถบรรทุกเมื่อมีเบาะแสอยากให้ตรวจสอบ หากกระทำผิดอยากให้ดำเนินการลงโทษตามกฎหมายด้วย

เพราะปัญหาการกระทำผิดเกี่ยวกับการบรรทุกน้ำหนักเกิน ส่งผลให้โครงข่ายถนนและสะพานเกิดชำรุด พังเสียหายก่อนถึงอายุการใช้งาน ซึ่งถนนมีอายุการใช้งาน 20 ปี แต่เมื่อมีการบรรทุกน้ำหนักเกินใช้งาน 2-3 ปีพังแล้ว รวมทั้งเกิดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุบนท้องถนน ภาครัฐต้องจ่ายค่าซ่อมบำรุงถนนทั่วประเทศปีละหมื่นล้านบาท และเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยกับผู้ใช้รถใช้ถนน