แต่นอกจากเป็นวัสดุในงานจักสาน ไผ่ยังเป็นพืชสารพัดประโยชน์ ทั้งนี้ชวนมองรอบด้าน ตามรอยไผ่ นำเรื่องน่ารู้ ความรู้งานดีไซน์ สถาปัตยกรรมไผ่ และแมททีเรียลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย อาจารย์ปรเมศวร์ พลรัฐธนาสิทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันไผ่กู้ชาติอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และอาจารย์ปุณณรัตน์ จรุงคนธ์ รองผู้อำนวยการสถาบันไผ่กู้ชาติอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้มุมมองเล่าประโยชน์จากไผ่ในประเด็นนี้ว่า ไผ่เป็นพืชตระกูลหญ้าสามารถเติบโตได้เอง เติบโตได้ง่ายในสภาพพื้นดินที่ไม่จำเป็นต้องมีความชุ่มชื้นมาก และด้วยที่เป็นพืชตระกูลหญ้า เมื่อตัดต้นแล้ว สามารถงอกขึ้นใหม่มีทดแทนขึ้นเรื่อย ๆ นำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายนับแต่ช่วงแรกเริ่มปลูก

“ไผ่ที่พบในประเทศไทยมีมากกว่าเจ็ดสิบสายพันธุ์ การนำมาใช้ประโยชน์มีได้หลากหลาย อย่างในด้านอาหาร ในงานสถาปัตยกรรมซึ่งก็มีประมาณสิบกว่าสายพันธุ์ ส่วนที่เหลือนำมาใช้ในด้านอื่น ๆ อย่างเช่น งานคราฟท์ หัตถกรรมจักสานที่ผ่านมาก็มีการนำมาใช้ต่อเนื่อง ทั้งนี้หากจัดแบ่งหมวดหมู่ ได้แก่ ไผ่ที่นำมาใช้ประดับตกแต่ง ไผ่ที่ใช้หน่อนำมารับประทาน และไผ่ที่ใช้เป็นโครงสร้าง โดยส่วนนี้จะมีลำขนาดใหญ่ มีความแข็งแรง”

นอกจากนี้ในการทำการทดลอง หรือวิจัยจะมีไผ่ชนิดหลัก ๆ โดยที่เป็นตัวแทนได้แก่ ไผ่เลี้ยง ไผ่ตง และ ไผ่ซาง โดยไผ่ซางจะมีความตรงของลำ และมีข้อเด่นอีกเรื่องคือหน่อไม้ โดยไม่ว่าจะเกี่ยวกับเรื่องความแข็งแรงหรือความยืดหยุ่น ฯลฯ มักใช้ไผ่เหล่านี้นำมาทดสอบ ทดลอง

จากที่กล่าวไผ่มีหลายสายพันธุ์ โดยในกลุ่มที่กล่าวมาก็มีแยกย่อยออกไป หรือมีชื่อเรียกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น อย่างเช่นไผ่รวก ในพื้นที่หนึ่งเรียกไผ่รวกดำ ขณะที่อีกพื้นที่เรียก รวกแดง เป็นต้น อาจารย์จากสถาบันไผ่กู้ชาติ เล่าเพิ่มอีกว่า จากที่กล่าว ไผ่เป็นพืชที่เมื่อตัดนำไปใช้ สามารถมีกลับมาคืนได้ตลอด ทั้งสามารถปลูกขึ้นง่าย มีความเหมาะที่จะเป็นวัสดุที่นำมาใช้งาน โดยไม่สิ้นเปลือง และไม่หมดไป ทั้งยังเป็นวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งในพืชทั้งเป็นวัสดุที่มีความน่าสนใจหลายมิติ โดยที่ผ่านมาสถาบันฯ ได้ศึกษาวิจัยและต่อยอด เผยแพร่ความรู้มาโดยตลอด

ไผ่ที่พบในประเทศไทยมีอยู่หลายสายพันธุ์ ส่วนใหญ่จะนำมาใช้ในงานจักสาน แต่ในต่างประเทศนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ อีก ทั้งนำไปผสมผสานกับวัสดุชนิดอื่นเพิ่มคุณสมบัติ โดยที่ผ่านมาสถาบันฯ เห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ ซึ่งได้ผสานความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ทั้งมีงานวิจัย และผสานความร่วมมือกับคณาจารย์จากคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยทำงานด้านไผ่ร่วมกัน รวมถึงการพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอนที่เกี่ยวเนื่องกับไผ่

จากการใช้ประโยชน์ไผ่ ทั้งในด้านงานฝีมือ ในงานสถาปัตยกรรมก็มีความโดดเด่นแต่ที่เพิ่มเติมต่อเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่จะนำมาผสานกัน เป็นสิ่งที่จะช่วยให้เกิดเป็นความยั่งยืนกลับมาใช้ไผ่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้การปลูกไผ่ยังช่วยลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว การเผาที่ทำให้เกิดฝุ่นควัน ส่งผลต่อคุณภาพอากาศ ทั้งเป็นทางเลือกการเพาะปลูกพืชให้กับเกษตรกร

อาจารย์จากสถาบันไผ่กู้ชาติ ให้มุมมองถึงสถานการณ์การใช้ไผ่อีกว่าหากมองในช่วงสิบปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าหลังเหตุการณ์นํ้าท่วมใหญ่ครั้งนั้น มีความตื่นตัวค่อนข้างมาก มีการส่งเสริมการปลูกไผ่ หรือในด้านวิสาหกิจชุมชนก็มีความสนใจ งานไผ่ตื่นตัวขึ้น รวมถึงด้านดีไซเนอร์ การนำแมททีเรียลไผ่ นำมาออกแบบเป็นโปรดักส์ใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับไผ่ ทั้งเห็นถึงวัสดุ อุปกรณ์ที่มีส่วนผสมจากไผ่หลากหลายเพิ่มขึ้น เช่น จักรยาน เฟอร์นิเจอร์ไผ่ รวมถึงงานด้านสถาปัตยกรรม ซึ่งมีความโดดเด่น โดยหลายประเทศให้ความสนใจ ทั้งสร้างสรรค์ดีไซน์ผลงานมากมาย เกิดเป็นพื้นที่แห่งไผ่ขึ้นในหลายสถานที่ อย่างใน บาหลี จะนึกถึงอาคารไผ่ แต่ทั้งนี้ในประเทศเขตหนาว เรื่องของการใช้ไผ่อาจแตกต่างไป

“สถาปัตยกรรมไผ่มีความน่าสนใจหลายมิติ ที่ผ่านมาสถาปนิกไทยที่ทำงานไผ่และทีมช่างทำงานไผ่ด้านนี้ มีความพยายามร่วมกันสร้างสรรค์ให้งานไผ่ขยายตัวขึ้น ทำให้เห็นว่าไผ่นำมาสร้างสรรค์ได้มากมาย ทั้งเป็นเครื่องใช้ อุปกรณ์ตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักสานที่มีดีไซน์ประณีต ฯลฯ เป็นส่วนหนึ่งในภาพรวมสถานการณ์ไผ่”

อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ให้มุมมอง เล่าถึงประโยชน์จากไผ่เพิ่มอีกว่า ถ้าเปรียบประโยชน์จากไผ่กับกล้วยมีความคล้ายคลึงกัน โดยสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้แทบทุกส่วน อีกทั้งสามารถปลูกขึ้นง่าย ใช้แรงงานจากตนเองปลูก ดูแลได้ ฯลฯ จากที่กล่าวทั้งต้นไผ่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน อย่างเช่น ลำไผ่ นำมาใช้ปลูกสร้างที่อยู่อาศัย นำมาตกแต่งอาคาร ใช้กับงานจักสานสร้างสรรค์เครื่องใช้เครื่องเรือน ฯลฯ

สำหรับ หน่อ นำมาบริโภค เป็นแหล่งอาหารที่มีไฟเบอร์ อุดมไปด้วยแร่ธาตุ ขณะที่ รากไผ่ ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยหากมีการจัดการอย่างถูกต้อง รากไผ่จะช่วยรักษาโครงสร้างของดินใบไผ่ยังนำกลับลงสู่ผืนดินเพิ่มความอุดมสมบูรณ์แก่ดิน เป็นต้น และด้วยความโดดเด่นเหล่านี้ มองว่ามีความเหมาะสมโดยหากกำลังมองหาพืชปลูก หรือมองเป็นอาชีพ

ส่วนการเลือกปลูกพันธุ์ไหนอย่างไร ต้องพิจารณาจากความเหมาะสมของพื้นที่บริเวณนั้น โดยปัจจุบันมีข้อมูลเผยแพร่และมีหลายหน่วยงานให้คำแนะนำกับเกษตรกร หรือผู้ที่สนใจเลือกปลูกได้ เช่นเดียวกับที่สถาบันฯ ให้บริการวิชาการให้ความรู้เกี่ยวกับไผ่ ส่งต่อองค์ความรู้ให้กับชุมชนและสังคม รวมถึงการผสานความร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อ ศึกษาวิจัยต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับไผ่

“ไผ่ในปัจจุบันไม่ได้เป็นพืชที่อยู่เฉพาะในป่า แต่กลับเป็นพืชที่อยู่ในสวน การดูแล มีการปลูกอย่างเป็นระบบเมื่อมีการจัดการนับแต่เริ่มปลูก ดูแลสางกอ จะช่วยแก้ไขสิ่งที่กังวล ทั้งความรก ไฟป่า มีความเป็นระเบียบ สวยงาม ทั้งยังช่วยให้ไผ่มีความสมบูรณ์มีคุณภาพ เนื้อไผ่มีความหนาแน่น ฯลฯ

จากที่กล่าว ไผ่ในประเทศไทยมีความหลากหลาย อย่างเช่น ไผ่สีสุก เป็นไผ่ที่มีสีสวยเนื้อไม้ละเอียด ใช้ในงานจักสาน ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ อีกทั้งหน่อมีรสชาติดี หรือ ไผ่หวาน ไผ่เลี้ยง ไผ่สร้างไพร ฯลฯ ก็จะมีความโดดเด่น นำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายเช่นกัน”

สำหรับงานคราฟท์งานจักสาน ไผ่เป็นหนึ่งในวัสดุที่โดดเด่น นำมาสร้างสรรค์ผลงานได้หลากหลายรูปแบบ สวยงาม ลวดลายบางชิ้นงานละเอียด ประณีต บอกเล่าเอกลักษณ์งานฝีมือจักสานของไทย โดยถ่ายทอดส่งต่อองค์ความรู้สืบกันมา อย่างความรู้การเลือกไผ่ การจักตอก ฯลฯ องค์ความรู้ในด้านเทคนิคและวิธีการมีความดั้งเดิม เป็นเรื่องน่าศึกษาพร้อมไปกับการนำเทคนิควิธีการใหม่ ๆ นำมาใช้ในผลงาน โดยมีความเป็นสากล เห็นชัดเจนขึ้นในปัจจุบัน ทั้งกลุ่มที่ให้ความสนใจ นำงานจักสานไผ่ไปต่อยอด

นอกจากนี้ไผ่ยังเป็นพืชที่มีความพิเศษ มีคุณสมบัติของความแข็งแรง ความยืดหยุ่น นำไปดัดให้มีความโค้งงอ ฯลฯ ก็ทำได้ โดยคุณสมบัติเหล่านี้สามารถนำไปทำโปรดักต์ หรือนำไปเป็นส่วนประกอบของอาคาร สิ่งปลูกสร้างใหญ่ ๆ หรือในแง่ของงานที่ต้องใช้ความละเอียดประณีต ชิ้นงานที่มีรายละเอียดเล็ก ๆ พิถีพิถัน ไผ่สามารถถักสานใส่ไอเดียสร้างสรรค์สร้างชิ้นงานที่มีเอกลักษณ์ มีความพรีเมียมได้เด่นชัดเช่นกัน เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เป็นความโดดเด่นจากไผ่

ส่วนในด้านอาคารสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับไผ่ ปัจจุบันก็มีความหลากหลาย มีดีไซน์สวยงาม เป็นอีกทางเลือกในด้านวัสดุ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่บอกเล่าเรื่องไผ่

วัสดุธรรมชาติที่มีความน่าสนใจหลากหลายมิติ.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ