จากกรณีประกันสังคม เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณโควิด-19 ในพื้นที่สีแดงเข้มนั้น

ล่าสุด ทางด้านกระทรวงการคลัง ได้ขยายกรอบวงเงินเยียวยาผู้ประกันตน ม.39, ม.40 จากโควิด-19 ตามที่ คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติขยายกรอบวงเงินเพิ่ม จำนวน 44,314.05 ล้านบาท จากเดิม 33,471.00 ล้านบาท เป็นจำนวน 77,785.06 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกันตนมาตรา 39 และ มาตรา 40 ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ 29 จังหวัด

โดยช่วยเหลือจำนวน 5,000 บาท/คน รวมทั้งสิ้น 9,385,930 คน ได้แก่

  • ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1,436,171 คน
  • ผู้ประกันตน มาตรา 40 จำนวน 7,949,759 คน

สำหรับมาตรการเยียวยาผู้ประกันตน มาตรา 39 และมาตรา 40 ในพื้นที่สีแดงเข้ม หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด มีดังนี้

  • กลุ่ม 10 จังหวัดแรก ประกอบด้วย กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา
  • กลุ่ม 3 จังหวัด ประกอบด้วย ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และพระนครศรีอยุธยา
  • กลุ่ม 16 จังหวัด ประกอบด้วย กาญจนบุรี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี อ่างทอง นครนายก ปราจีนบุรี ลพบุรี ระยอง สิงห์บุรี สระบุรี นครราชสีมา เพชรบูรณ์ ตาก

มาตรการดังกล่าว มีเงื่อนไขคือผู้ประกันตน มาตรา 39 และ ผู้ประกันตนมาตรา 40 ต้องประกอบอาชีพอิสระในพื้นที่ 29 จังหวัดและจ่ายเงินสมทบครบถ้วนตามเงื่อนเวลาที่กำหนดอีกด้วย

กรณีประกันสังคม มาตรา 39
สำหรับผู้ที่เคยเป็นพนักงานเอกชนแล้วลาออก โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 12 เดือน ลาออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ลาออกจากงาน ให้ความคุ้มครอง 6 กรณี ดังนี้ เจ็บป่วย ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ทุพพลภาพ ชราภาพ

การส่งเงินสมทบ
เงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ คือ เดือนละ 4,800 บาท เท่ากันทุกคน โดยคิดจากอัตราเงินสมทบ 9% (4,800 x 9% = 432 บาทต่อเดือน)
ซึ่งผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี (กรณีเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีสงเคราะห์บุตรและกรณีชราภาพ) ต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33

สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้เข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (ทำงานในสถานประกอบการ/นายจ้างใหม่) นายจ้างหรือผู้รับมอบอำนาจสามารถดำเนินการแจ้งขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่เข้าทำงาน โดยผู้ประกันตนไม่ต้องไปดำเนินการลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (สปส.1-21) แต่อย่างใด ยกเว้น กรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มีการค้างชำระเงินสมทบจะต้องไปดำเนินการแจ้งการลาออก (สปส.1-21) ด้วยตนเอง ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ที่สมัครไว้

สิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนมาตรา 39 จะได้ มี 6 กรณี คือ
1.กรณีเจ็บป่วย หากเป็นการเจ็บป่วยปกติ มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาล ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรืออุบัติเหตุสปส.จะเป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาล
2.กรณีทุพพลภาพ ค่ารักษาพยาบาล กรณีเข้ารับบริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หากรักษาในสถานพยาบาลเอกชน ผู้ป่วยนอกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริงไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท กรณีผู้ป่วยในจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ เท่าที่จ่ายจริงไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท

3.กรณีคลอดบุตร ฝากครรภ์และคลอดบุตรได้ทุกโรงพยาบาล ในการเบิิกค่าคลอด ผู้ประกันตนชาย-หญิง สามารถเบิกค่าคลอดแบบเหมาจ่าย 13,000 บาทไม่จำกัดจำนวนครั้ง และผู้ประกันตนหญิงจะได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอด 50% ของค่าจ้างเป็นระยะเวลา 90 วัน
4.กรณีสงเคราะห์บุตร เหมาจ่ายเดือนละ 600 บาทต่อบุตรหนึ่งคน โดยสามารถรับได้เมื่อบุตรมีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน

5.กรณีชราภาพ หากผู้ประกันตนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ก็จะได้รับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญ เงินบำเหน็จชราภาพ หากจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน ก็จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับเงินสมทบที่ผู้ประกันตนได้จ่ายไป หากจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป แต่จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน ก็จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบ ส่วนเงินบำนาญชราภาพ หากจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ ในอัตรา 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย แต่ถ้าจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน ให้ปรับเพิ่มอัตราบำนาญชราภาพอีก 1.5% ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบที่เพิ่มขึ้นทุก 12 เดือน
6.กรณีเสียชีวิต หากจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือน โดยจะได้รับเงินค่าทำศพ 40,000 บาท และได้รับเงินสงเคราะห์กรณีตาย หากผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน ได้รับอัตรา50 %ของค่าจ้างเฉลี่ย 4 เดือน ถ้าส่งเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินสงเคราะห์ในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย 12 เดือน

กรณีประกันสังคม มาตรา 40
ช่องทางสร้างประกันในชีวิตให้กับประชาชนที่ประกอบอาชีพอิสระทุกอาชีพ ให้ความคุ้มครอง 3-4-5 กรณี ขึ้นอยู่กับทางเลือกในการสมทบ

ทางเลือกในการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมมาตรา 40 มี 3 ทางเลือก ดังนี้
ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบ 70 บาท/เดือน สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 3 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย

ทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบ 100 บาท/เดือน สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 4 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีชราภาพ

ทางเลือกที่ 3 จ่ายเงินสมทบ 300 บาท/เดือน สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 5 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีชราภาพ และกรณีสงเคราะห์บุตร…