เมื่อเวลา 09.00น. วันที่ 1 มิ.ย. ที่อาคารหอประชุม มวก. 48 พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จเป็นประธานในพิธีเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชานานาชาติ ครั้งที่ 18 เรื่อง “พุทธปัญญากับการรับมือวิกฤติโลก” เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี 2566 โดยมี สมเด็จพระสังฆราช ประมุขสงฆ์ ผู้นำชาวพุทธ รวมกว่า 3,500 รูป/คน จาก 55 ประเทศทั่วโลก นายดิเนช คุณวาระเดนะ นายกรัฐมนตรีศรีลังกา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมพิธี

พระพรหมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) อุปนายก มจร ประธานสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก กล่าวถวายรายงานว่า ตามที่องค์การสหประชาชาติได้รับรองวันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของสหประชาชาติ ในปี 2542 นั้น จึงได้มีการจัดพิธีเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชามาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยปี 2566 คณะกรรมการสมาคมสภาสากลวิสาขบูชาโลก ได้มีฉันทามติร่วมกันให้ประเทศไทย โดย มจร ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลไทย และ มส. เป็นเจ้าภาพจัดพิธีเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชานานาชาติ ครั้งที่ 18 เรื่อง “พุทธปัญญากับการรับมือวิกฤติโลก” เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ระหว่างวันที่ 1-2 มิ.ย. ที่ มจร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา, ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ และพุทธมณฑล จ.นครปฐม โดยจัดพิธีเปิดที่ มจร จากนั้นวันที่ 2 มิ.ย. ผู้นำชาวพุทธจากทั่วโลกจะไปร่วมพิธีเฉลิมฉลอง ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ในการนี้เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ เป็นประธานพิธีเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลก วันสำคัญสากลของโลก ครั้งที่ 18 เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ผู้แทนชาวพุทธจากทั่วโลก จะเดินทางไปพุทธมณฑล จ.นครปฐม เพื่อร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์นานาชาติ บริเวณหน้าองค์พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์

จากนั้น สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระคติธรรม เปิดการประชุม ว่า ในนามคณะสงฆ์ไทยขอต้อนรับด้วยความปราถนาดีอย่างยิ่ง พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาอเทวนิยม มุ่งสั่งสอนว่า สิ่งทั้งหลายล้วนมีเหตุปัจจัยในการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป หาใช่จากการดลบันดาลของอำนาจลี้ลับเหนือธรรมชาติ หากพิจารณาถึงอริยสัจสี่ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ และโปรดประทานให้แก่เราทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ได้ศึกษาใคร่ครวญ และน้อมนำไปเป็นวิถีทางแห่งการรับมือกับวิกฤตการณ์ต่างๆ ย่อมเห็นประจักษ์ได้ว่า ถ้าต้องการไม่ให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สรรพสัตว์ทั้งหลายคงมีทางเลือกสองทาง กล่าวคือ กำจัดเหตุ 1 และกำจัดเงื่อนไข 1 เมื่อทำได้ดังว่าแล้วทั้งสองประการ ผลที่ไม่พึงปรารถนาก็จะไม่บังเกิดอย่างแน่แท้ ความตระหนักรู้แจ้งในหลักการเหล่านี้ ย่อมทำให้สัตว์โลกตื่นรู้ พร้อมความระมัดระวังโดยรอบคอบมากยิ่งขึ้น มีนัยประมวลสรุปรวมหมายถึง “ความไม่ประมาท” ซึ่งเป็นที่สุดแห่งพระบรมพุทโธวาททั้งปวง การที่ท่านทั้งหลายมาประชุมกันเพื่อร่วมขบคิดใคร่ครวญในหัวข้อ “พุทธปัญญากับการรับมือวิกฤติโลก” นับเป็นที่น่าอนุโมทนายิ่ง เพราะเสมอด้วยการทำให้พระพุทธศาสนา ปลูกฝังหยั่งรากลงลึกสู่จิตใจของมวลมนุษยชาติ ในฐานะศาสนาแห่งเหตุและผล ซึ่งสมบูรณ์พร้อมทั้งภาคปริยัติและภาคปฏิบัติ เป็นยอดศาสนาที่ช่วยเกื้อกูลให้โลกสามารถก้าวข้ามพันวิกฤติการณ์ ไปสู่ภาวะแห่งศานติสุขได้อย่างแท้จริง

ต่อมาในช่วงบ่ายผู้นำชาวพุทธจากทั่วโลกได้แบ่งกลุ่มกันร่วมสัมมนา 3 หัวข้อหลัก คือ 1. พุทธปัญญาเพื่อการบรรลุสันติภาพโลก 2.พุทธปัญญากับการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ และ 3.พุทธคุณูปการกับการพัฒนาทางสังคมและมนุษยธรรมหลังจากโรคโควิด โดยหลังจากการสัมมนาแล้ว จะมีการนำบทสรุปจากการสัมมนาดังกล่าว ออกเป็นประกาศปฏิญญากรุงเทพ ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ในวันที่ 2 มิ.ย. ต่อไป.