เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 2 มิ.ย. ที่ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) เขตพระนคร น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วย นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขาฯ ผู้ว่าฯ กทม. และโฆษกของ กทม. พญ.เลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ นางสายฝน ภู่พิทยา หัวหน้าพยาบาล โรงพยาบาลกลาง และนางฤดีวรรณ รัตนานุวัติ หัวหน้าพยาบาล โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร ว่า เบื้องต้นนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. สั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องข้อร้องเรียนพยาบาลทำงานเกินกว่าชั่วโมงกำหนด โดยเข้มงวดไม่ให้ทำงานนานเกิน 2 กะ หรือ 16 ชั่วโมง เพราะอาจกระทบต่อสมาธิ และการรักษาประชาชน ซึ่งต้องดำเนินการแก้ไขเร่งด่วน ไม่ให้เกิดการทำงานรูปแบบเช่นนี้อีก

น.ส.ทวิดา กล่าวต่ออีกว่า จากข้อมูลการร้องเรียนคาดการณ์ว่า เรื่องดังกล่าวน่าจะส่งมาจากโซนกรุงเทพฯ ตะวันออก เนื่องด้วยจำนวนประชากรที่มีจำนวนมาก จากการตรวจสอบเทียบชื่อการเข้ากะและจำนวนพยาบาลพบมีมูลแห่งความจริง อย่างไรก็ตาม ในโรงพยาบาลต่างๆ อาทิ รพ.วชิรพยาบาล จะมีระบบสแกนใบหน้าและข้อมูลของพยาบาล โรงพยาบาลกลางมีระบบเช็กข้อมูลและระบบเวรกลาง ซึ่งจากนี้ต้องนำระบบดังกล่าวมาปรับใช้ในทุกโรงพยาบาล

สำหรับสาเหตุที่เกิดขึ้น น.ส.ทวิดา ชี้แจงว่า อัตราของพยาบาลและคนที่ทำงานในโรงพยาบาล กรุงเทพมหานครตรึงตัว มีการจ้างพยาบาลในเวลาเสริมจำนวนมาก จึงไม่ปฏิเสธเรื่องอัตรากำลัง ซึ่งกรุงเทพมหานครพยายามบรรจุพยาบาลเพิ่มในทุกโรงพยาบาลภายในเดือน ส.ค.นี้ และหากเป็นไปได้จะเร่งการบรรจุอัตรากำลังให้เร็วขึ้นจากกำหนด ทั้งนี้ จะปรับระบบบริหารจัดการใหม่ในทุกโรงพยาบาลด้วย พร้อมทั้งใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น ระบบแจ้งเตือนการทำงานเกิน 2 กะ

“ยอมรับว่าเรื่องนี้กระทบต่อประชาชน เราต้องบริหารจัดการจำนวนพยาบาลให้เพียงพอ ไม่ให้เกิดการหยุดชะงัก จึงต้องคุยกับบุคลากรถึงขั้นตอนการทำงาน การอยู่เวร สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยบังคับ และการบังคับให้อยู่ต่อ ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น”

อย่างไรก็ตาม น.ส.ทวิดา ไม่ปฏิเสธว่าการทำงานเกินกำหนดของพยาบาลมีเพียง 1-2 เคส เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดจริงในหลายโรงพยาบาล โดยชี้แจงถึงแผนการบรรจุพยาบาลของกรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 2,300 คนต่อโรงพยาบาล ว่าอยู่ระหว่างการคัดเลือกและประกาศผล เพื่อสอบขอใบอนุญาตวิชาชีพพยาบาล ไม่ต่ำกว่า 138 คน

ขณะที่ นางเลิศลักษณ์ เปิดเผยว่า สำนักการแพทย์ให้ความสำคัญกับมาตรฐานการดูแลประชาชนให้เป็นไปตามมาตรฐานของสภาการพยาบาล โดยแต่ละโรงพยาบาลมีการประกันคุณภาพมาตรฐานโรงพยาบาล จากเหตุการณ์นี้ได้มีการพูดคุยกับผู้บริหารของแต่ละโรงพยาบาลเรื่องการดูแลทุกข์สุขของพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมพัฒนาระบบตรวจสอบติดตามอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น 

ด้าน นางสายฝน กล่าวว่า การบริหารงานของพยาบาลทั้ง 11 โรงพยาบาล สังกัดกรุงเทพมหานครใกล้เคียงกัน หากทำงานเกิน 16 ชั่วโมง จะเห็นการขาดอัตรากำลังในบางโรงพยาบาล จึงต้องมีการเคลียร์อัตรากำลังมาช่วย ยืนยันว่าฝ่ายพยาบาลทราบกฎระเบียบ  ทั้งนี้ ได้รับคำสั่งจากผู้บริหารให้กลับไปทบทวนแก้ไขเรื่องดังกล่าว โดยเน้นแก้ปัญหาที่ระบบ มากกว่าการหาต้นเหตุหรือหาตัวบุคคล 

นางสายฝน ยังกล่าวอีกว่า การทำงานเกิน 24 ชั่วโมงนั้น สภาวิชาชีพไม่ยินยอมให้เรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เรื่องดังกล่าวจึงเป็นไปไม่ได้ เชื่อว่าคนพูด คงพูดเอามัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เรื่องร้องเรียนดังกล่าวมาจากกลุ่ม Nurses Connect ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “ขอผู้มีอำนาจตรวจสอบ หลังพบว่าโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร เกิดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรอย่างหนัก เนื่องด้วยภาระงานที่มากเกินไป ถึงขั้นต้องให้พยาบาลทำงานควบเวร เช้า บ่าย ดึก ติดต่อกัน 24 ชั่วโมง”