เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยถึงกรณี น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล จ.ปทุมธานี ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เพื่อให้ตรวจสอบวินัยผู้พิพากษาศาลอาญา ที่เร่งรัดคดีอาญา มาตรา 112 ที่ น.ส.ชลธิชา ตกเป็นจำเลย โดยมีการเลื่อนนัดสืบพยานให้เร็วขึ้น จนไม่มีทนายความจำเลย ร่วมฟังการสืบพยานโจทก์ เมื่อวาน (1มิ.ย. 66) ที่ผ่านมาว่า คดีนี้ แต่เดิมมีการกำหนดนัดสืบพยานไว้เป็นช่วงเดือนมีนาคม 2567 แต่ตอนหลังมีเรื่องของการกำหนดกรอบระยะเวลาในกระบวนการยุติธรรม โดยมีระเบียบของประธานศาลฎีกาออกมาว่า คดีประเภทคดีอาญาสามัญ ควรจะพิจารณาคดีแล้วเสร็จตั้งแต่วันรับฟ้อง ซึ่งศาลอาญาเห็นว่า ระยะเวลาที่มีการนัดสืบพยานในช่วงเดือนมีนาคม 2567 น่าจะเป็นระยะเวลาที่ยาวเกินไป เลยกรอบไปนาน จึงมีการปรับปรุงวันนัดใหม่ให้กระชั้นขึ้น หรือเร็วขึ้น เพื่อไม่ให้เกินกรอบระยะเวลานานเกินไป

เมื่อกำหนดวันนัดใหม่ ก็เลยมีประเด็นที่จำเลยโต้แย้งวันนัด ว่า ในวันที่ 1-2 มิ.ย. 66 จำเลยไม่ว่าง เพราะทนายติดว่าความคดีที่ศาลอื่น  จึงขอเลื่อนการสืบพยาน ในวันดังกล่าว แต่องค์คณะผู้พิพากษา เจ้าของสำนวนคดีนี้ พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ จำเลยมีทนาย 2 คน คือ นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม และนายกฤษฎางค์ นุตจรัส โดยคนที่แถลงเลื่อนว่า ติดว่าความที่ศาลอื่น คือ ทนายนรเศรษฐ์ ส่วนทนายกฤษฎางค์ ไม่ได้ปรากฏว่าติดคดีอะไร เพราะฉะนั้นโดยปกติ เมื่อมีทนาย 2 คนแบบนี้ หากคนหนึ่งติดว่าความคดีอื่น แต่อีกคนไม่ติดคดีอะไร ก็สามารถที่จะทำหน้าที่ได้ องค์คณะผู้พิพากษา จึงไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี และมีการสืบพยานไป

ส่วนประเด็นที่ น.ส.ชลธิชา ระบุว่า ในการสืบพยานจำเลย เมื่อวาน(1 มิ.ย. 66) ไม่มีทนายจำเลยร่วมรับฟังการสืบพยานภายในห้องพิจารณาคดีนั้น โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย กำหนดว่า ต้องมีการสืบพยานต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ได้ระบุว่าต้องสืบพยานต่อหน้าทนายจำเลย เพราะฉะนั้นเรื่องของกระบวนพิจารณา การที่กฎหมายกำหนดคือเรื่องของจำเลยเป็นหลัก  

แต่สิทธิในการที่จะต่อสู้คดีในการถามค้านตรงนี้ ก็มี 2 ส่วนคือ ประเด็นแรก ทางศาลถามตัวจำเลยว่าจะซักถามพยานในเชิงถามค้านเองหรือไม่ ซึ่งจำเลยก็ไม่ใช้สิทธิ ทั้งนี้ ก็ถือว่าเป็นสิทธิของตัวความ ไม่ว่าจะเป็นโจทก์ หรือจำเลย  ก็มีสิทธิที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาได้เองอยู่แล้ว เพราะทนายก็เป็นตัวแทนของตัวความ ก็คือโจทก์ จำเลย เพราะฉะนั้น สิทธิในการถาม ก็เป็นสิทธิในตัวความอยู่แล้ว

นายสรวิศ กล่าวต่อว่า ในการสืบพยานโจทก์ เมื่อวานที่ผ่านมา มีการอัดเทป หรือวิดีโอไว้ด้วย ซึ่งศาลก็ได้มีการถามเหมือนกันว่า หากทนายจำเลยไม่ว่างในวันดังกล่าว ก็สามารถไปศึกษาจากวิดีโอที่บันทึกไว้ เพื่อขอถามค้านในวันอื่นได้ แต่ปรากฏว่า น.ส.ชลธิชา ก็โต้แย้งมาโดยตลอดว่า กระบวนการพิจารณาไม่ชอบ จึงแจ้งต่อศาลว่า ไม่ประสงค์ที่จะใช้สิทธิตรงนี้ ส่วนการยื่นหนังสือถึง ก.ต.เพื่อขอให้ตรวจสอบการพิจารณาคดีขององค์คณะผู้พิพากษานั้น เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และถือเป็นเรื่องปกติที่ว่า หากคู่ความคนใดเห็นว่า ตนเองอาจจะไม่ได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม ก็ยื่นเรื่องให้พิจารณาได้อยู่แล้ว แต่ว่าสุดท้ายการพิจารณาจะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในคดีที่เกิดขึ้น

ส่วนประเด็นเรื่องของการตั้งคำถามว่า ศาลเร่งรัดพิจารณาคดี เฉพาะว่าที่ ส.ส.ของพรรคก้าวไกล นั้น โฆษกศาลยุติธรรม ระบุว่า คงไม่ได้เกี่ยวกับการเป็นว่าที่ ส.ส. เพราะการเร่งรัดคดีตรงนี้ ก็ไม่ใช่เฉพาะคดีนี้ ซึ่งการปรับปรุงวันนัด ก็มีการปรับปรุงในหลายๆ คดีให้เร็วขึ้น ตามกฎหมายที่ออกมา และคดีของ น.ส.ชลธิชา ก็ฟ้องมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งฟ้อง ส่วนคดีที่มีการอ้างถึงว่า พิจารณาคดีล่าช้านั้น เป็นคดีที่เพิ่งเกิดขึ้น ด้วยซ้ำ ดังนั้น คงนำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้