จากกรณีสุดฉาวโฉดที่ “นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ส.ส.พรรคก้าวไกล ออกมาแฉเรื่องส่วยสติกเกอร์ผู้ประกอบการรถบรรทุก จนกลายเป็นข่าวสะเทือนไปทั้งเมือง ซึ่งน่าตกใจที่เรื่องนี้ มีการต่อสู้กันมาตั้งแต่ปี 39 จนถึงปัจจุบัน แต่ไม่เคยได้รับการแก้ไขจริงจังสักที

โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2566 ในรายการโหนกระแส “หนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย” ได้เชิญ “อภิชาติ ไพรรุ่งเรือง” ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย มาสัมภาษณ์ประเด็นร้อนครั้งนี้ พร้อมด้วย “ชำนัญ ศิริรักษ์” ทนายความ เจ้าของกิจการรถบรรทุก ที่เคยฟ้อง ตร. รับส่วย มาพร้อม คุณชัย (นามสมมุติ) คนขับรถบรรทุก มาร่วมกันพูดคุยถึงประเด็นนี้

ตกลงส่วยสติกเกอร์ ยืนยันว่ามีจริงๆ?
อภิชาติ : มันมีมาตั้งแต่ปี 39 แล้ว
ทำไมบางคนไม่รู้?
อภิชาติ : มันเป็นเรื่องอมตะนิรันดร์กาลที่เราต่อสู้กันมาตลอด สู้มาหลายรัฐบาล เผอิญเรื่องนี้มีฝ่ายนักการเมือง ซึ่งก็คือคุณวิโรจน์ พรรคก้าวไกล ได้หยิบประเด็นเรื่องนี้มา ถามว่าเรามีความมั่นใจในตัวคุณวิโรจน์มั้ย เอาอย่างนี้ อย่างน้อยก็ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน เราคิดว่าสิ่งที่เราไปร้องเรียนในอดีตที่ผ่านมา เราไปร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แต่นี่เป็นนักการเมือง ซึ่งจุดประเด็นขึ้นมาเอง เราก็ตรึกตรองอยู่หลายวัน ว่าสิ่งที่คุณวิโรจน์ต่อสู้ ท่านเอาข้อมูลมาจากไหน วันนั้นผมไปแถลงข่าวที่พรรคก้าวไกล ผมก็เซอร์ไพร้ส์มาก ข้อมูลคุณวิโรจน์มีเกือบเท่าผมเลย

ทำไมพี่ถึงไม่ออกมาพูดตั้งแต่แรก?
อภิชาติ : ผมพูดตลอดเวลา ตั้งแต่ยุคไอทีวี ยุคช่อง 3 คุณสรยุทธ คุณกิตติ สิงหาปัด ผมออกแทบทุกช่อง แต่ในเวลาที่เป็นกระแส ก็อยู่สักเดือนสองเดือน แล้วคนทำสติกเกอร์ก็จะหยุดชั่วคราว พอกระแสลดลงไป มันก็ปะทุขึ้นมาอีก แต่มั่นใจในตัวคุณวิโรจน์ว่า ถึงแม้เขาจะได้เป็นหรือไม่ได้เป็นรัฐบาล ถ้าเขามีความมุ่งมั่น ผมเชื่อว่าเรื่องนี้เขาสามารถทำได้

เรื่องส่วยที่บอกว่ามีตั้งแต่ปี 39 วิธีการที่ทำออกมาจะแตกต่างกันมั้ย?
อภิชาติ : เขาทำเป็นสติกเกอร์ เพื่อจะบอกว่ากลุ่มนี้เขาเคลียร์แล้ว
มีกี่เจ้า?
อภิชาติ : ตอนนี้เหลืออยู่ประมาณ 45 เจ้า
พวกไจแอนท์ ความหมายคืออะไร?
อภิชาติ : แสดงอัตลักษณ์ว่า ได้เคลียร์อยู่ภาคไหน จังหวัดไหน

ภาคไหน?
ชัย : ตะวันตกครับ ป้ายตัวนี้เคลียร์อยู่ เป็นพวกรถดินหินทราย บรรทุกดิน บรรทุกหิน บรรทุกทราย ทางเถ้าแก่เป็นคนเคลียร์มา มีผู้รับเคลียร์อยู่ มีหน้าเสื่อวิ่งอยู่
หมายถึงสามารถบรรทุกได้เต็มกล่อง ธรรมดาจะมีข้อกฎหมายว่า?
ชัย : 50.5 ตัน ห้ามเกิน

แต่ถ้าอันนี้สามารถขนได้ถึงร้อย?
ชัย : ไจแอนท์นี่ขนได้ 7 พันต่อคัน
ขับไป ตร. เจอ ตร. จะไม่เรียกเลย?
ชัย : ครับ ปล่อยเลยครับ

ถือว่าใหญ่มั้ย?
อภิชาต : ระดับชั้นประถม หรือมัธยม ที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ก็ราคาอยู่ที่ 2.5-2.7 หมื่น
ประถม มัธยม หมายถึง?
อภิชาติ : เลเวลความกว้างไกล สามารถวิ่งได้กี่จังหวัด เขตพื้นที่ไหน แต่ถ้าราคา 2.5-2.7 หมื่น ก็จะไกลขึ้นไป และสามารถบรรทุกน้ำหนักเท่าไหร่ก็ได้

สติกเกอร์ตะวันยิ้มคืออะไร?
ชัย : รถบรรทุกพืชผลทางการเกษตรครับ เป็นป้ายเคลียร์เอาไว้วิ่งในเขตภาคกลางครับ ยันตะวันตก ไปยังชลบุรี กำแพงเพชร สุพรรณฯ อุทัยฯ ได้หมดครับ
เป็นของใครรู้มั้ย?
อภิชาติ : ผมรู้แต่พูดชื่อไม่ได้ มันฝังรากลึกมานาน มีทั้งเจ้าหน้าที่หน่วยงานนั้นๆ หรือข้าราชการที่มองเห็นช่องทาง หรือนักการเมืองท้องถิ่น ผสมกันไป พูดกันตรงๆ ถ้าเรื่องนี้ลงไปลึก ยิ่งกว่าเฮียชูวิทย์อีก เพราะมันจะลงไปเรื่อยๆ
หมายความว่าไง?
อภิชาติ : ความหลากหลายมิติ ถ้าสาวลึกลงไป ทำไมลักษณะส่วยแบบนี้ถึงมีรายได้มหาศาล ต่อปี 2 หมื่นล้านนะ

รถในไทยกี่คันที่ต้องขึ้นส่วย?
อภิชาต : ในกลุ่มของสหพันธ์ มีการลง MOU ว่า ประมาณ 4 แสนกว่าคัน ซึ่งจะไม่ทำผิดกฎหมาย ทำมา 20 กว่าปีแล้วนะ แล้วรถที่อยู่ในโครงการขนส่ง 1.5 ล้านคัน ก็เท่ากับ 1 ใน 3 ที่เหลือรถ 1 ล้านคัน ก็ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เท่าที่ผมสังเกต ก็ 2 แสนคันนี่แหละ จะบริโภคสติกเกอร์

ฝั่งพี่กำนันก็เป็นเจ้าของรถบรรทุกเหมือนกัน พี่มีอยู่ในมือกี่คัน?
ชำนัญ : ร่วม 30 คันครับ ส่วนใหญ่เป็นภาคตะวันออก ภาคกลาง และทั่วประเทศ แต่จะเป็นสินค้าที่ไม่ใช่หินปูนทรายอะไร เป็นพวกอุปโภค บริโภค และกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์
พี่เคยโดนเสนอส่วยเหมือนกัน?
ชำนัญ : เคยมีครับ เพราะจริงๆ ส่วยมีทั้งระดับภูมิภาคใหญ่ๆ เลย แล้วก็มีระดับการวิ่งในแต่ละท้องที่ ก็จะมีการจัดเก็บของเขาเองด้วย ส่วนของการขออนุเคราะห์ เหมือนเป็นรายป้อม ป้อมนี้ดูแลเท่าไหร่ ป้อมนี้ดูแลเท่าไหร่

หมายถึง ตร.?
ชำนัญ : ตร. บางส่วนนอกแถว ที่มาทำแบบนี้ แล้วมีการเก็บเงินรายเดือน
คำว่าส่วยที่พูดอยู่ จริงๆ แล้วเขาต้องรวมตัวกันหลายภาคส่วน มีการส่งต่อกันหลายภาคส่วน ถูกมั้ย?
ชำนัญ : ใช่ครับ ระดับผู้รับนะครับ จะมีการส่งต่อกันไปเป็นลำดับขั้น

เริ่มจากผู้รับลำดับขั้นไหน?
ชำนัญ : ตั้งแต่ชั้นประทวน ตั้งด่านกวดขันวินัยจราจรต่างๆ
เวลาเขาจ่าย ใครเป็นตัวแทน?
ชำนัญ : ก็จะเป็น ตร. หน้าด่านมาคุยเลย มีสองส่วนนะครับ อย่างสติกเกอร์ภาพกลุ่ม จะส่งตัวแทนไปคุย ไปเคลียร์ และเอาสติกเกอร์มาขายกันว่าเคลียร์แล้วจะไม่จับรถที่มีสติกเกอร์นี้ เหมือนแบบธุรกิจแล้ว แต่อีกแบบระดับรากหญ้า คือขอกันตรงนั้น คุยกันว่าเดือนหนึ่งเท่าไหร่ ยังไง บางอันก็เป็นลักษณะจำชื่อผู้ประกอบการ เช่น ยี่ห้อบริษัท ผู้ประกอบการชื่อนี้ ตร. คุยตรงเองเลย เคสที่ทำคดี ตร. คุยเอง

ตร. ขอยังไง?
ชำนัญ : มีการเรียกจากด่านกวดขันวินัยการจราจรปกติ แล้วมีการพยายามเดินหาเหตุผลว่าจะผิดอะไรได้บ้าง มีการพูดคุยโน้มน้าวคนขับว่า รถวิ่งอยู่ที่ไหนอย่างไร จะมีจำนวนเยอะมั้ย แล้วให้เบอร์กับคนขับมา บอกว่าช่วยไปบอกเถ้าแก่ให้โทรฯ มาหน่อย ให้เบอร์ไปเลย ต่อไปผ่านมาจะดูแลให้ ถ้าโทรฯ กลับไปก็จะบอกว่าได้เบอร์มาจากที่ไหน ยังไง เขาก็คุยตรงๆ ถามว่ารถวิ่งผ่านแถวนี้เยอะมั้ย รถที่บริษัทมีกี่คัน

พี่มีหลักฐานในสิ่งที่พูดมั้ย?
ชำนัญ : จริงๆ ผมมีคลิปที่ใช้ในคดี ท้ายที่สุดก็จะบอกเลยว่า ถ้าอย่างนั้นอย่างผมที่เจอคดี เดือนละ 1,500 ต่อคัน ถ้า ณ เวลานั้นเจตนาผมไม่คิดจะเคลียร์อยู่แล้ว ตอนนั้นมีอยู่ 30 คัน ตกเดือน 4.5 หมื่น ท้องที่เดียวนะ
อภิชาติ : เราถูกเจ้าหน้าที่ที่อยู่ตามป้อมต่างๆ กดดัน และอาศัยช่วงเวลาหลังเที่ยงคืนโทรฯ มากวนเรา เพื่อกดดันเรื่อยๆ จะให้คนรถโทรฯ มาบอกว่า เถ้าแก่รถถูกจับ ถ้าไม่จ่ายก็จับอยู่อย่างนั้น แล้วบางทีเราบอกว่ารถผมไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ทำไมต้องไปเคลียร์ บางครั้งรถเลอะ เจอฝน เจออะไร ก็ถูกจับข้อหารถสกปรก หรือดอกยาง เขาก็มาวัดว่ากี่เปอร์เซ็นต์ ป้ายเลอะเลือน

เอาง่ายๆ ต้องผิดสักจุด ถ้าไม่จ่าย?
อภิชาติ : ใช่ เขาเรียกเคลียร์จุกจิก แล้วโทรฯ มาหลังเที่ยงคืน
เจ้าของก็คอยรับจนไม่ไหว สุดท้ายก็ต้องจ่าย?
อภิชาติ : ครับ กดดันแบบนี้ตลอด

จริงเหรอ?
ชำนัญ : จริงครับ บางทีคนขับเจอบ่อย จะเป็นลักษณะยึดรถไว้ ประวิงรถเอาไว้ ไม่ยอมปล่อย ไม่มีเหตุผลอะไร ทั้งที่บางครั้งมันก็ไม่ได้มีอำนาจนะ บางครั้งเอารถเข้าโรงพักไปเลย จะได้ไปหาไปคุยที่โรงพัก
ย้อนมาที่คันละ 1,500 4.5 หมื่นที่พี่ต้องจ่าย แล้วเขาต้องส่งสายไหน?
ชำนัญ : เราโอนผ่านไปที่เขา แต่สายเขาคือในพื้นที่ที่เขาดูแล เช่น เขต สภ. นี้ ก็จะเป็นย่านอำนาจ สภ. นี้อย่างเดียว แต่ถ้าไหลไปอีกจังหวัดก็มีมูลค่าอีก แต่ก็ขึ้นอยู่กับการคุย บางครั้งบางที่เป็นลักษณะเหมือนแพ็กเกจเหมา จำนวนเยอะๆ ก็ต่อรองกันไปเท่านั้นเท่านี้ ไหวเท่านี้เท่านั้น ก็ว่ากันไป เพราะบางทีจ่ายเยอะๆ ก็ไม่สมประโยชน์อยู่แล้ว ทำงานไม่ได้ ก็ต้องต่อรอง

ฟังแล้วตกใจ เรื่องมันน่ากลัวมาก ถึงขั้นมีคนเคยถูกยิงตายเพราะมาเปิดเรื่องนี้?
อภิชาติ : เป็น ตร. ด้วย นายดาบ เขาก็ไปเปิดโปงแฉส่วยนี่แหละครับ ในวงการที่เขาเคยทำงานอยู่ในปี 51 ถูกยิงเสียชีวิต
พี่ไม่กลัวเหรอ?
อภิชาติ : ผมไม่ได้กลัวอะไร เพราะหนึ่งอายุก็มากแล้ว และที่ตั้งองค์กรนี้ขึ้นมา ก็อยากให้นิวเจนที่ตามหลังผมมา ให้เขาเดินทำธุรกิจได้อย่างสะดวก ถ้าเด็กหนุ่มที่จะมาทำงานในลักษณะแอนตี้ หรือไปสู้กับหน่วยงาน เขาไม่กล้า เราก็ต้องบุกเบิกทางให้เขา แล้วถามว่าจะไปเมื่อไหร่ ผมคิดว่าคุณหนุ่มคงไม่ได้ทิ้งข่าวผม คงใช้ระยะเวลาหลายวัน (หัวเราะ)

พี่ชำนัญ เด็ดมาก เป็นเจ้าของรถบรรทุกเอง เป็นทนายความเองด้วย ที่เด็ดคือจะมี ตร. มาเรียกรับส่วยว่า จ่ายมาเท่านี้ๆ แกจ่ายนะ แล้วเอาหลักฐานที่จ่ายมาฟ้อง ตร. คนนั้น?
ชำนัญ : มันมีการเรียกจับเบ็ดเตล็ด แล้วให้เบอร์กับพนักงานขับรถมา เขาก็ส่งเบอร์มาทางผม เรารู้อยู่แล้วว่าเป็นการก่อความรำคาญ ยังไงก็ต้องคุย เลยโทรฯ กลับ แต่พอโทรฯ กลับ เราก็บันทึกการโทรฯ ทั้งวิดีโอ เสียง ทุกอย่าง แล้วก็เจรจาว่าจะจ่ายยังไง ทางไหน จ่ายแล้วได้อะไรบ้าง มีออพชั่นอะไร เขาก็เหมือนพรีเซ็นต์เหมือนเสนอขายว่า วิ่งขวา เรื่องแต่งกายไม่เรียบร้อย เรื่องสมุดบันทึกประจำรถ เรื่องเบ็ดเตล็ดจะดูแลให้ ถ้าพื้นที่นี้วิ่งไปเจอใคร ก็บอกเขาว่าเขาดูแล หรือถ้าเกิดมีใบสั่งเกิดขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจ ให้ส่งให้เขา เขาเคลียร์ให้ เขาก็เสนอมา หลายออพชั่น เราก็ขอข้อมูลการโอน เป็นเลขบัญชี ทราบภายหลังว่าเป็นภรรยาเขา ก็ส่งเลขบัญชีมา แล้วก็ขอแอดไลน์ คุยในไลน์ คุยย้อนเรื่องที่คุยอีกทีเพื่อให้เขาตอบรับ เลขบัญชีก็ให้พิมพ์มาด้วย เสร็จแล้วเราก็โอน เอาสลิปส่งกลับไปหาเขา บอกว่าโอนเรียบร้อย ตอนแรกคิดว่าจะไปแจ้งความ แต่คิดว่าคงพึ่งพาใครไม่ได้ หนึ่งเป็น ตร. ด้วยกัน ผมคิดว่าผมเองอาจไม่ทานทนกับแรงกดดันกลับมา ที่อาจขอเคลียร์ ขอคุย ซึ่งเราไม่ใช่คนใจขนาดนั้น พอท้ายที่สุดถ้าเราโดนมากๆ มาบีบเราให้เราจำยอมปล่อยเขา ก็เลยนำคดีขึ้นฟ้องเองที่ศาล จริงๆ เราสามารถไปได้สองทาง หนึ่งไปร้อง ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. ซึ่งเราก็เห็นอยู่ว่าคดี 3 ปี 5 ปี เราไม่เห็นผลอะไรเลย บางทียังไม่ชี้มูลอะไรเลย หน่วยงานที่กำกับดูแลการต่อต้านทุจริต ผมไม่รู้ว่าเขามีคนสู้การทุจริตไม่ไหวขนาดนั้นเลยเหรอ ในเมื่อสั่งไม่ได้ในระยะเวลา ประชาชนที่ร้องเรียนในช่องทางปกติ ไม่สามารถพึ่งพาอาศัยเขาได้ ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ศาลอาญาทุจริตเพิ่งเปิด ก็เลยถือโอกาสในฐานะเราเป็นผู้เสียหายโดยตรง ยื่นฟ้องเอง

ผลเป็นยังไง?
ชำนัญ : ตอนแรกศาลชั้นต้นลงมาที่ 10 ปี จำคุก 10 ปี ต่อมาเขาอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็ลดโทษลงมาเหลือ 4 ปี ท้ายที่สุดคดีถึงที่สุด เขาก็หลบหนีราชการ ขาดงานทิ้งไปเลย เนื่องจากตอนนั้นมีหมายจับ เนื่องจากไม่ไปฟังคำพิพากษา แต่คดีอาญาทุจริตมันไม่มีอายุความ ถ้าหนีต้องหนีจนตาย เขาเลยกลับมามอบตัวและรับโทษ 4 ปี
ตอนนี้ออกมาหรือยัง?
ชำนัญ : น่าจะออกจากเรือนจำแล้วนะครับ ตอนนั้นเขายศร้อยตำรวจโท

ระดับผู้หมวด เขาทำคนเดียวมั้ย?
ชำนัญ : เท่าที่ผมทราบ พอมีการดำเนินคดี ก็มีความพยายามจากผู้บังคับบัญชาหลายระดับติดต่อมาหาผมเพื่อขอเคลียร์ ขอให้จบได้มั้ย ทำนองนี้ ซึ่งเป็นระดับสารวัตรสูงกว่าเขา มาขอเคลียร์ ผมเลยถามว่าพี่ พี่เป็น ตร. หรือเปล่า ถ้าพี่พบคนกระทำความผิด พี่ว่าการมาขอเคลียร์แบบนี้ พี่อายต่ออาชีพพี่เองมั้ย ผมพูดกับเขาแบบนี้เลย เขาก็เงียบเลย และไม่ติดต่อมาอีกเลย เพราะผมพูดว่ากำลังช่วยคนผิด

พี่ก็พูดกับเขายาวไป ถ้าเป็นผมถามเลยว่า มึงจะเอาด้วยเหรอ ทีเดียวจบเลย?
ชำนัญ : จริงๆ เขาคงกลัวแหละครับ ผมเคยทำคดีเคสแบบนี้เยอะมาก เยอะจนกระทั่งตร.บางคนคุยโทรศัพท์กับผมไม่กล้าคุย เขาบอกไม่เอาแล้ว เดี๋ยวพี่บันทึก ผมเคยส่งคลิปที่บันทึกกลับไป แล้วก็บอกว่าคุณกลับไปคิดดีๆ สิ่งที่คุณทำ คืออะไร เขาบอกว่าต่อจากนี้ไม่คุยกับพี่ทางโทรศัพท์แล้วนะ เราเห็นเรื่องการขอการเคลียร์แบบนี้บ่อย ทั้งชีวิตที่ผ่านมาเห็นตลอด

กลับมาหาพี่ชัย พี่ชัยขับรถบรรทุกตลอดชีวิต กี่ปีแล้ว?
ชัย : 20 ปีแล้วครับ พี่ทะลุปรุโปร่งหมด จุดไหนมีด่านไม่มีด่านรู้หมด เห็นว่ามีถึงขั้นที่ว่าผู้ประกอบการบางคนทนไม่ไหวที่ต้องผ่านด่านนี้แล้วเสียเงินตลอดเวลาจ่าย