ในช่วงเดือนมิถุนายนหลายคนคงเห็น “สัญลักษณ์สายรุ้งหลากสี” พร้อมเห็นผู้คนออกมาทำกิจกรรมเกี่ยวกับ “ความหลากหลายทางเพศ” เป็นช่วงเวลาที่ LGBTIQ+ จะเฉลิมฉลองทั่วโลก เพื่อแสดงความสำคัญของความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้สังคมเปิดใจ รวมถึงมีกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจและส่งเสริมเรื่องของการเคารพในความแตกต่างของผู้คนในศตวรรษที่ 21 จนทำให้หลายๆ คนรวมไปถึงในสังคมไทย ก็เริ่มยอมรับและเคารพความแตกต่าง

แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. กลับเกิดเรื่องราวดราม่าเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศขึ้น เมื่อแฟนเพจ “นักเรียนเลว” ได้ออกมาเปิดเผยถึงเรื่องราวในโรงเรียนชื่อดังใน จ.กาฬสินธุ์ ที่มีข้อห้ามจนชาวเน็ตมองว่าเป็นการลิดรอนสิทธิ อีกทั้งยังทำร้ายจิตใจเด็กนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยระบุว่า “เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ #รรดังจังหวัดกาฬสินธุ์ พบกลุ่มนักเรียน LGBTIQ+ ที่แต่งหน้ามาเรียนถูกครูเรียกไปพบหลังเลิกแถว” โดยพูดหน้าแถวว่า “กะเทยพบครูหลังเลิกเเถว” เมื่อไปพบจึงถูกยึดเครื่องสำอาง กำชับห้ามแต่งหน้า-ใส่ชุดนักเรียนตามเพศสภาพ และย้ำทิ้งท้ายว่า “ถ้าไม่พอใจ ให้ไปลาออก”

ผู้ร้องเรียนเผยว่า แต่เดิม รร. อนุญาตให้ นร. แต่งกาย-ไว้ทรงผมตามเพศสภาพได้ แต่เนื่องจากการประกาศใช้ระเบียบใหม่ ภายใต้การนำของ ผอ. คนใหม่ มีการบังคับชุดแต่งกายและระเบียบทรงผมตามเพศกำเนิด หลังการเข้าแถวตอนเช้า นร. LGBTIQ+ ถูกสั่งให้ไปตัดผมตามเพศกำเนิด และยังริบเครื่องสำอาง นร. ที่แต่งหน้ามาเรียน จนทำให้ นร. เครียดและร้องไห้ เพราะมันเป็นการทำลายความมั่นใจของพวกเขา และเป็นการลิดรอนสิทธิเหนือร่างกายอีกด้วย

นอกจากนี้ ผู้ร้องเรียนระบุว่า “นร. หลายคนถูกครูค้นกระเป๋าโดยพลการ เพื่อตรวจหาว่านำเครื่องสำอางมา รร. หรือใหม่ ทำให้ นร. รู้สึกไม่ปลอดภัยอย่างมาก และยืนยันว่าสภาพแวดล้อมใน รร. นี้ ไม่เอื้อต่อการสร้างสังคมแห่งความหลากหลายทางเพศ เพราะคำพูดของครูที่กล่าวไว้ว่า “ถ้าไม่พอใจ ให้ไปลาออก” เป็นการไม่ให้เกียรติ นร. อย่างมาก”

แหล่งข่าวให้ข้อมูลว่า มี นร. หลายคนไม่พอใจกับกฎระเบียบของ รร. แต่ไม่สามารถที่จะเรียกร้องหรือออกเสียงได้ เพราะจะมีบทลงโทษ ตนจึงหวังว่า ในเดือน Pride Month นี้ สังคมข้างนอก รร. ที่เริ่มมีการตระหนักรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศแล้ว สักวันหนึ่ง รร. นี้จะมีความเข้าใจในหลักการนี้บ้าง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินความเข้าใจแต่อย่างใด

ทั้งนี้ มีงานวิจัยโดยมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) ปี 2566 เปิดเผยว่า ภาวะสุขภาพจิตเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง ร้อยละ 71.1 ของกลุ่มตัวอย่าง 3,094 คน มีอาการซึมเศร้าในระดับน้อยขึ้นไป โดยเกือบ 3 ใน 5 มีความคิดฆ่าตัวตาย

Timo Tapani Ojanen หนึ่งในผู้วิจัย ระบุว่า “โรงเรียนไม่ควรไปเพิ่มความทุกข์ของกลุ่มหลากหลายทางเพศ เช่น เรื่องเครื่องแบบ เรื่องทรงผม ถ้าเกิดโรงเรียนไม่ได้ไปบังคับตามเพศกำเนิดเท่านั้น ก็จะลดความกดดัน ลดปัญหาสุขภาพจิต ที่ตามมาในกลุ่มหลากหลายทางเพศด้วย”

อย่างไรก็ดี TLHR ระบุว่า การยึดสินทรัพย์ของนักเรียน อาจมีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 334, 336-339 ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ หรือ ชิงทรัพย์ ซึ่งคดีอาญานั้นเป็นคดีที่ยอมความไม่ได้..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @นักเรียนเลว