เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ที่ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) เขตพระนคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. นำทีมคณะรองผู้ว่าฯ กทม. นำโดยนายจักกพันธ์ุ ผิวงาม น.ส.ทวิดา กมลเวชช นายวิศณุ ทรัพย์สมพล และนายศานนท์ หวังสร้างบุญ แถลงข่าว “365 วัน ทำงาน ทำงาน ทำงาน กรุงเทพฯ” เพื่อแถลงผลการดำเนินงาน 1 ปี 9 ดี 9 ด้าน 28 ประเด็นพัฒนา

นายชัชชาติ กล่าวว่า เป็น 365 วันที่สนุก มีพลังเหลือเฟืออีก 3 ปี สบายมาก ทั้งหมดไม่ใช่ผลงานของ “ชัชชาติ” แต่เป็นผลงานของทุกคนที่ร่วมมือกัน เป็นการทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อ ความดีขอยกให้ทีมงาน ความบกพร่องตนเองขอรับผิดชอบเอง เพราะเป็นผู้นำ

สิ่งที่ขับเคลื่อนการทำงานของเราในช่วงปีแรก มี 5 เรื่อง ประกอบด้วย

1.ให้ความสำคัญกับเส้นเลือดฝอย ประสานกับเส้นเลือดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ที่เข้มแข็ง
2.เปลี่ยนวิธีการทำงานโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
3.การใช้เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเมือง เช่น Traffy Fondue Open Data Telemedicine และการออกใบอนุญาตออนไลน์ 4.ความโปร่งใสในการทำงาน ไม่มีการเรียกเก็บส่วยใดๆ ทั้งสิ้น และ 5.ร่วมมือกับเครือข่ายทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเมือง

ทั้งนี้ จากเดิมมี 216 นโยบายเพิ่มเป็น 226 นโยบาย ดำเนินการแล้ว 211 นโยบาย 11 นโยบายยังไม่ดำเนินการ และ 4 นโยบายยุติดำเนินการแล้ว เช่น ห้องให้นมบุตร, เปลี่ยนจากห้องสมุดเคลื่อนที่เป็นห้องสมุดออนไลน์ ซึ่งสามารถติดตามนโยบายอื่นๆ ได้ที่ openpolicy.bangkok.go.th

นายชัชชาติ ยังกล่าวต่ออีกว่า ช่วงปีแรกถือเป็นช่วงทำแซนด์บ็อกซ์ เนื่องด้วยไม่สามารถนำนโยบายใหม่มาปรับใช้กับทั้ง กทม.ได้ เพราะหากเกิดข้อผิดพลาดอาจเกิดผลกระทบที่รุนแรง อาทิ พื้นที่นำร่องพัฒนาระบบสาธารณสุขปฐมภูมิ เช่น ดุสิตโมเดล ราชพิพัฒน์แซนด์บ็อกซ์ โดยปีถัดไปจะเป็นปีแห่งการขยายต่อยอด

อย่างไรก็ตาม ที่มีประชาชนต่อว่าที่เราไม่มีโครงการขนาดใหญ่เลย ตนขอชี้แจงว่าโครงการขนาดใหญ่ไม่ได้ทำได้ภายใน 1 ปี หลายโครงการทำต่อมาตั้งแต่สมัยของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ไม่เคยเคลมว่าเป็นผลงาน “ชัชชาติ” เช่น โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอน โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากร คลองบางบัวสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โครงก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง พร้อมศึกษาความเป็นไปได้รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายบางหว้า-ตลิ่งชันรถไฟฟ้า รถไฟฟ้าสายสีเงิน และสายสีเทา

นายชัชชาติ ยังกล่าวถึงสัดส่วนรายรับของ กทม. ในปี 2566 แบ่งเป็นรายได้ที่รัฐเก็บให้ 65,000 ล้านบาท รายได้ที่ กทม.จัดเก็บจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอีก 14,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับรายจ่าย กทม.มีรายจ่ายที่ประจำพื้นฐาน ประมาณ 46,847 ล้านบาท รายจ่ายผูกพัน 14,010 ล้านบาท โครงการงบลงทุนนโยบายผู้บริหาร 18,555 ล้านบาท หรือคิดเป็น 23%

รวมถึงยังได้ชี้แจงภาะหนี้สิ้นของ กทม.ที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว แบ่งเป็น หนี้ค่าติดตั้งระบบการเดินรถ (E&M) 19,000 ล้านบาท หนี้ค่าเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) 42,400 ล้านบาท และหนี้โครงสร้างพื้นฐาน 50,000 ล้านบาท ทั้งที่ กทม.มีเงินสะสมปลอดภาระผูกพันเพียง 49,837 ล้านบาท ดังนั้นแนวทางการดำเนินโครงการในอนาคตต้องระวัง และทำอย่างรอบคอบ

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ยากสุดในการทำงานคือ การแก้ทุจริตคอร์รัปชั่น หากไม่มีความโปร่งใส ประชาชนไม่ไว้ใจ สุดท้ายก็ไม่มีแนวร่วม

“ผมว่าข้าราชการลูกจ้างส่วนใหญ่เป็นคนดี ควรที่จะต้องส่งเสริมโดยเริ่มจากฝ่ายบริหาร ที่ผ่านมา คนแจ้งข้อมูลเรื่องทุจริตมาเยอะ หากเอาจริงเอาจังอาจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรามีเงินเหลือทำเรื่องอื่น ผมบอกเสมอว่า Traffy Fondue ที่ประชาชนแจ้งมา 300,000 กว่าเรื่องไม่ได้สะท้อนว่าเราอ่อนแอ แต่แสดงว่าประชาชนไว้ใจเรา มีค่ามากกว่างบประมาณ”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าหากจะให้คะแนนตัวเองในการทำงานที่ผ่านมา 1 ปีนั้น เต็ม 10 จะให้คะแนนเท่าไหร่ นายชัชชาติ กล่าวว่า ให้ 5 คะแนนละกัน จะได้ปรับปรุงตัวง่ายขึ้น เพราะถ้าให้เต็มเราก็จะปรับปรุงยาก แต่ถ้าให้ 5 คะแนน จะมีโอกาสปรับปรุงได้มากขึ้น แต่ก็ต้องขอบคุณทีมงาน กทม.ทุกคนก็มีความเข้มแข็ง ร่วมเดินไปด้วยกัน เราทำคนเดียวไม่ได้อยู่แล้ว ทุกอย่างที่เห็นนี่คือผลงานทีมงาน กทม.

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มว่า ภายในงานยังได้มีการเปิดตัว LINE OA: @bangkokofficial ให้ประชาชนติดตามนโยบาย และเข้าถึงบริการต่างๆ ของ กทม.ได้ด้วย.