รายงานพิเศษฉบับที่แล้ว ฉายภาพให้เห็นขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนแล้วว่า มีทั้งทางทะเล และทางบก รวมถึงพื้นที่ไม่ได้มีอยู่แค่ภาคใต้เหมือนดังเช่นในอดีตแล้ว แต่ได้กินพื้นที่เข้ามาในเขตภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกด้วย ซึ่งขบวนการนี้เติบโตและขยายขอบเขตได้ ก็เพราะความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นแกะดำบางนาย ที่สมยอมพร้อมใจรับ “ส่วย”

ครั้งนี้ “เดลินิวส์” ขอขยายความเครือข่ายขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนและกลุ่มเจ้าหน้าที่บางรายว่า แต่ละส่วนมีพฤติกรรมอย่างไร และอยู่ในพื้นที่ใดบ้าง โดยเราแบ่งขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนที่เป็นขบวนการ ออกมาเป็น 4 กลุ่มใหญ่ 1.กลุ่มของภาคตะวันออก 2.กลุ่มของภาคกลาง 3.กลุ่มของภาคใต้ (อ่าวไทย) 4.กลุ่มของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และยังสามารถ “แยกย่อย” เป็น 3 กลุ่มใหญ่ 1.กลุ่มผู้ค้าน้ำมันทางทะเล 2.กลุ่มผู้ค้าน้ำมันเขียว (ประมง) และ 3.กลุ่มผู้ค้าน้ำมันทางบก นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย

ในอดีต เส้นทางน้ำมันเถื่อนที่รู้จักกันดี 1 น้ำมันทางทะเล ที่ “เรือแท็งก์” จะลอยลำเพื่อรอเรือประมงดัดแปลง ไปขนถ่ายน้ำมันขึ้นบก ส่วนการค้าน้ำมันเถื่อนทางบก ก็ไม่มีความซับซ้อน โดยจะมีขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน นำน้ำมันเถื่อนจากโกดังในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยรถกระบะ และรถเก๋งดัดแปลง เข้ามาในอำเภอชายแดน เช่น สะเดา, คลองหอยโข่ง หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งนายทุนจะทำคอกน้ำมันเถื่อน รับซื้อและส่งต่อให้กับรถบรรทุกน้ำมันขนาด 16,000-40,000 ลิตร ที่มาจากต่างจังหวัด และจังหวัดในภาคกลาง ไปส่งขายในภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เป็นพื้นที่การใช้น้ำมัน ทั้งในกิจกรรมขนส่ง และการเกษตร และมีปั๊มอิสระมากที่สุดในประเทศไทย

ปัจจุบันขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนทางบก ได้วิวัฒนาการเพิ่มขึ้น ด้วยการซื้อน้ำมันที่ถูกต้องตามกฎหมายจากมาเลเชีย ซึ่งมีราคาถูกกว่าไทย ลิตรละ 16-17 บาท ทั้งน้ำมันดีเซล และเบนซิน โดยทำเอกสารผ่านศุลกากร อ.สะเดา จ.สงขลา เพื่อขอทรานซิสเส้นทาง (ผ่านประเทศ) เพื่อไปส่งให้ลูกค้าที่ ลาว, เมียนมา, กัมพูชา เป็นต้น

โดยข้อเท็จจริง น้ำมันที่นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งขอทรานซิสเส้นทางจากไทย ไปยังประเทศที่ 3 ไม่ได้ไปจริง แต่มีการนำน้ำมันไปขายยังพื้นที่ต่างๆ ของไทย โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งใกล้กับ ชายแดนไทย-เมียนมา-กัมพูชา และ สปป.ลาว หลังจากการขายน้ำมัน ก็มีการส่งเอกสารให้กับศุลกากร เพื่อทำตามขั้นตอนว่ามีการส่งออกจริง ซึ่งในขั้นตอนนี้มีการจ่ายส่วยคันละ 90,000 บาท ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

และอีกช่องทางหนึ่งของการค้าน้ำมันเถื่อนจากการนำเข้าจากมาเลเซีย คือการสำแดงเท็จต่อศุลกากร ในการนำเข้า ด้วยการนำน้ำมันดีเซลที่ถูกต้องและมีคุณภาพ (ยูโรโฟร์) ผสมคาร์บอน เพื่อให้น้ำมันเปลี่ยนสีเป็น “สีดำ” และนำเข้าโดยสำแดงเท็จว่า เป็นน้ำมันที่เสียหรือคุณภาพต่ำ นำเข้าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ในราคาลิตรละ 3-5 บาท เพื่อให้เสียภาษีนำเข้าน้อยลง หลังจากที่นำเข้ามายังประเทศไทยแล้ว ก็รอให้คาร์บอนตกตะกอน และมีการนำสารเคมีผสมในน้ำมัน เพื่อให้กลับคืนสู่สภาพเดิม และส่งขายให้กับลูกค้า เช่นเดียวกับกรณีตำรวจทางหลวงจับที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งรถบรรทุกน้ำมัน 30,000 ลิตร แต่ยึดได้แค่ 15,000 ลิตร นั่นแปลว่ามีการขายไปแล้ว 15,000 ลิตร

นอกจากนั้น ยังมีขบวนการลักลอบนำน้ำมันเขียว หรือน้ำมันดีเซล ที่รัฐบาลจัดสรรโควตาให้กับกรมประมง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการประมง เป็นน้ำมันที่มีสีเขียว เพื่อให้แตกต่างกับน้ำมันดีเซล ที่ขายอยู่บนบก โดยไม่มี “มาร์กเกอร์” หรือส่วนผสมของไบโอดีเซลเพื่อให้มีราคาถูก แต่ปรากฏว่า มีการร่วมมือกันนำ “น้ำมันเขียว” ขึ้นฝั่ง ขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ “ปั๊มอิสระ” ในพื้นที่ของ จ.นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี และจังหวัดที่มีชายฝั่งทะเล ซึ่งมีผู้ประกอบอาชีพประมงที่ชัดเจน คือ “ปั๊มน้ำมัน” แห่งใน จ.นครศรีธรรมราช ที่ขายน้ำมันดีเซลในราคาที่ถูกกว่าปั๊มทั่วไปลิตรละ 3 บาท

แต่แปลกที่ เจ้าหน้าที่ไม่เคยตั้งข้อสงสัย และทำการตรวจสอบที่มาของน้ำมันแต่อย่างใด… เหตุผลเดียวที่หน่วยงานผู้เกี่ยวข้อง ไม่มีการทำหน้าที่ในการป้องกัน ปราบปราม อย่างเด็ดขาด เป็นเพราะมีการ “จัดสรรผลประโยชน์” ให้อย่างลงตัว ซึ่งหากดูตามบัญชีรายชื่อของหน่วยงานที่มีผู้ทำหน้าที่หัวเบี้ยในการ “เก็บส่วย” จากขบวนการผู้ค้าน้ำมันเถื่อน จะเห็นว่ามีถึง 35 หน่วยงาน ที่ถือบัญชีรายชื่อ ของผู้จ่ายส่วยในมือ และเรียกเก็บเป็นรายเดือน ทั้งในพื้นที่และส่วนกลาง ล่าสุดหลังจากมี “ข่าว” อื้อฉาว ทางส่วนกลาง เปลี่ยน “สารวัตร….” เป็นผู้จัดการในการ “เก็บส่วย” ให้ส่วนกลางเพียงคนเดียว ทั้งภาค 8 และภาค 9 … เห็นหรือไม่ว่า ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร “ตำรวจ” เป็นหน่วยงานที่พลิกแพลงในการ “เก็บส่วย” อยู่ตลอดเวลา

ยกตัวอย่างในการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ และยึดได้ “บัญชีส่วยหลายครั้ง” จากผู้ทำความผิด ซึ่งมีอยู่ครั้งหนึ่ง ที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ชุดภัยแทรกซ้อน เข้าจับกุม “เสี่ยโจ้” ราชาน้ำมันเถื่อนภาคใต้ ที่โรงงาน ใน จ.ปัตตานี ยึดหลักฐานการจ่ายส่วย ที่ชัดเจนที่สุด มี ชื่อ ยศ ตำแหน่ง มีชื่อหลังบ้าน มีหมายเลขบัญชี และชื่อธนาคาร และจำนวนตัวเลขกลมๆ ในการโอนเงิน ที่มีผู้รับ-ผู้ให้ ตั้งแต่ระดับบิ๊กสีกากี ลงมา จนถึงนายดาบ มีหน่วยงาน ทั้งตำรวจ , ศุลกากร, สรรพสามิต ฯลฯ แต่ไม่เคยมีการนำบัญชีส่วยเข้าสู่ขบวนการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริง เพื่อดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีชื่อในการ “รับส่วย” แต่อย่างใด

เมื่อไม่มีการดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด ก็กลายเป็นยิ่งทำให้เกิดช่องจ่ายส่วยให้ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนเติบโตยิ่งขึ้น ดังนั้นเรื่องน้ำมันเถื่อนในทุกรูปแบบ กับเรื่องการจ่ายส่วย แม้จะไม่ใช่ปัญหาโลกแตก แต่การแก้ปัญหาไม่ง่าย เพราะเป็นผลประโยชน์มหาศาล ที่ฝังรากลึกในหน่วยงานราชการทุกหน่วย ซึ่งการแก้ปัญหาสำเร็จหรือไม่ อยู่ที่รัฐบาลจะจริงใจและเอาจริงในการแก้ปัญหาหรือไม่ ก็หวังว่า ถ้า “ก้าวไกล” ได้เป็นรัฐบาล จะได้เห็นการจัดการกับเรื่องของส่วยอย่างจริงจัง ดังที่เคยแสดงท่าทีไว้สมัยยังเป็นฝ่ายค้านอยู่ เชื่อเถอะ “เชื้อชั่ว” ในขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนตายแน่นอน ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐเลิกรับส่วย และทำหน้าที่ป้องกัน ปราบปราม ตามหน้าที่.