เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ กก.3 บก.สส.ภ.4 (กองกำกับการ 3 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 4) พล.ต.ต.ณัฐนนท์ ประชุม ผบก.สส.ภ.4 พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.สส.3 บก.สส.ภ.4 ร่วมกันจับกุม นายจิรากร หรือ เต้ (สงวนนามสกุล) อายุ 39 ปี ชาวดอนเมือง กรุงเทพฯ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดขอนแก่น ที่ 352/2566 ลงวันที่ 19 มิ.ย. 2566 ในข้อหา “ฉ้อโกง โดยการแสดงตนเป็นบุคคลอื่น โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ผู้อื่น โดยสามารถจับกุมตัวได้ที่ บ้านพักใน ต.บ้านหว้า อ.เเมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น

พล.ต.ต.ณัฐนนท์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากมี น.ส.เอ(นามสมมุติ) อายุ 38 ปี และน.ส.บี(นามสมมุติ) อายุ 29 ปี ทั้งสองเป็นชาว อ.เมือง จ.ขอนแก่น เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนสภ.เมืองขอนแก่น ว่า ถูกนายจิรากร หลอกลวง และนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ รวมทั้งยักยอกทรัพย์เงินสด รถยนต์ รวม 12 คัน จึงอยากให้ตำรวจทำการสืบสวนจับกุมมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งหลังรับแจ้งความพนักงานสอบสวนได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบจากนั้นได้ประสานงานไปยัง กก.สส.3 บก.สส.ภ.4 สืบสวนสอบสวนรวบรวมหลักฐานขอหมายจับทำการสืบสวนจับกุมดังกล่าว

น.ส.เอ ให้การว่า มีอาชีพเป็นหมอนวดแผนโบราณ รับนวดตามบ้านพักอาศัยและตามที่ลูกค้าต้องการ จนเมื่อเดือนเม.ย. 2565 ก็มีนายจิรากร มาติดต่อให้ไปนวด โดยแนะนำตัวว่า ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ ปปส. และทำเพจรถเช่ารายเดือน รายปี มีลูกค้าเช่ารถอยู่ทั่วประเทศ จากนั้นก็กลายเป็นลูกค้าประจำ และคบหากันเป็นคนรัก นานเข้าก็ให้หาเงินบอกมาร่วมลงทุนทำรถเช่ากัน จึงกู้เงินให้ 1,500,000 บาท และเงินส่วนตัวอีก 1,000,000 บาท โดยนายจิรากร รับปากว่าเป็นเงินที่ร่วมทุนจะคืนทุกบาท

น.ส.เอ เล่าอีกว่า จากนั้นนายจิรากร ให้เงินไปดาวน์รถยนต์ 5 คัน นอกจากนี้ยังบอกว่า เงินที่เอาไปนั้น นอกจากทำรถเช่าร่วมกันแล้วยังร่วมทุนนำรถมินิคูเปอร์เก่าจากญี่ปุ่นเข้ามาในไทย ซ่อมส่งขายที่ประเทศมาเลเซีย และทำฟาร์มผักไฮโดรโปรนิกส์ที่ สปป.ลาวและที่เชียงใหม่ แต่ทุกอย่างที่พูดมา ไม่เคยเห็นสถานที่จริง ไม่เคยเห็นสัญญาเช่ารถ และไม่เคยเห็นอู่ซ่อม มีเพียงรูปสถานที่ต่างๆมาส่งให้ดูทางไลน์ ต่อมาเมื่อช่วงปลายปี 2565 ได้ติดต่อนายจิรากร เพื่อทวงเงินที่กู้มาแต่ติดต่อไม่ได้ จึงไปสอบถามที่เต็นท์รถที่เคยพาไปติดต่อซื้อรถ คนที่เต็นท็บอกว่า นายจิรากร เคยพาเมียมาซื้อรถซึ่งไม่ใช่ตน จึงขอที่อยู่เมียนายจิรากร ตามข้อมูลซื้อรถก่อนไปที่บ้านจนพบกับ น.ส.บี อยู่ที่บ้านพักพอคุยกันจึงรู้ความจริงว่าถูกหลอกด้วยกันทั้งคู่

น.ส.บี เปิดเผยว่า มีอาชีพขายสินค้าออนไลน์ รู้จักกับนายจิรากร เมื่อเดือน ก.พ.2564 ผ่านแอปลิลูน่า หรือแอป ทางเดียวกันไปด้วยกัน โดยโพสต์ไว้ที่บอร์ดว่า จะกลับบ้านที่บึงกาฬ ขอติดรถไปด้วย จากนั้นนายจิรากร ก็ทักมาและได้คุยกันทางไลน์ แนะนำตัวว่าชื่ออาคม ทำงานเป็นพาราเมดิก หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายฉุกเฉินทางการแพทย์ ในรพ.ชื่อดังแห่งหนึ่ง และเป็นช่วงลาพักร้อนหลายวัน จึงจะไปเที่ยวที่ จ.บึงกาฬ เมื่อถึงวันเดินทางก็ให้ติดรถมาลงที่จ.บึงกาฬ จากนั้นก็รับกลับไปที่กรุงเทพฯ ซึ่งตลอดเวลาที่ร่วมเดินทางด้วยกันไม่มีพิรุธ หรือแสดงกิริยาวาจาที่ไม่ดี

น.ส.บี เล่าอีกว่า กลับถึงกรุงเทพฯ นายเต้ก็ไลน์มาหา โทรมาจีบจนเป็นแฟนกัน บอกว่าจะไปเซ้งร้านอาหารที่บึงกาฬ ให้ตนดูแลกิจการ แต่วันต่อมาบอกว่า ตกลงราคากันไม่ได้ จึงไม่ให้ทำ จากนั้นชวนให้มาร่วมลงทุนทำกิจการรถเช่าที่ขอนแก่น โดยเช่าบ้านอยู่ด้วยกันในพื้นที่ ต.บ้านทุ่ม อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งการทำรถเช่านั้นมาบอกว่ารถที่มีปล่อยเช่าหมดแล้ว จึงต้องซื้อรถใหม่ และก็ให้เงินไปดาวน์รถยนต์ 3 คัน รถจักรยานยนต์อีก 2 คัน เป็นเงินกว่า 4 ล้านบาท และยังมีเงินสดที่ยืมไปทำธุรกิจอีก 900,000 บาท

ต่อมาพยายามทวงถามเรื่องเงินที่ยืมไปลงทุน ก็ไม่ได้ขอดูสัญญาเช่ารถก็ไม่ได้ อ้างว่าติดงาน ต้องย้ายงาน ไม่มีเวลาว่างมาหา จึงพยายามหารายละเอียดที่เกี่ยวกับตัวตนในชื่ออาคม และนามสกุลที่แจ้งไว้ ก็ไปพบมีเพจเฟซบุ๊กแจ้งเตือนภัยว่าเป็นมิจฉาชีพ จึงติดต่อพูดคุยกับคนโพสต์เตือนภัยดังกล่าว จึงได้ชื่อที่อยู่ขอนายจิรากร มา จึงเก็บหลักฐานไว้ กระทั่งเดือน มี.ค. 2566 ได้พบกับ น.ส.เอ มีการพูดคุยกัน ทำให้รู้ว่าต่างคนต่างถูกหลอก จึงนำหลักฐานที่มีเข้าแจ้งความกับตำรวจสภ.เมืองขอนแก่น ให้จับกุมนายเต้มาดำเนินคดีตามกฎหมาย

สอบสวนเบื้องต้น นายจิรากร ให้การภาคเสธว่า ไม่ได้หลอก ส่วนรถยนต์ที่ซื้อทุกคันก็เป็นคนให้เงินทุกคนไปดาวน์ แต่ดาวน์มาแล้วไม่ได้ส่งต่อก็ถูกทวงถามส่วนความสัมพันธ์อื่นๆก็ไม่ได้หลอกลวง ทุกคนเต็มใจอยู่กินด้วยกัน ส่วนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ฝ่ายหญิงซื้อมาทั้งหมดนั้น

จากคำให้การดังกล่าวเจ้าหน้าที่ไม่ปักใจเชื่อเนื่องจากตรวจสอบประวัตินายจิรากร พบว่า มีประวัติอาชญากรรม 17 คดีในหลายท้องที่ ทั้งภาคกลางและปริมณฑล โดยล่าสุดพบผู้เสียหายเข้าแจ้งความเพิ่มเติมที่ สภ.เมืองขอนแก่นและพื้นที่อื่นๆรวม 10 ราย ความเสียหายทั้งหมดเป็นรถยนต์ 20 คัน รถจักรยานยนต์ 9 คัน รวมมูลค่า 21,964,561 บาท อยู่ระหว่างรวบรวมผู้เสียหายขยายผลดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป