เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่พรรคก้าวไกล นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคตดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ไม่ได้ติดโควิดจริง โดยยืนยันว่านายพิธา ติดโควิดจริง ไม่ได้ติดโควิดการเมือง ซึ่งได้รับแจ้งจากนายพิธาตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 18 มิ.ย. 66 หลังกลับจากขอบคุณประชาชนที่ จ.เชียงใหม่ แต่พรรคยังไม่เปิดเผย เนื่องจากคิดว่าจะหายทัน

“ติดจริง มีหลายคนรู้มาก่อนแล้ว และคุณพิธา มีอาการรุนแรง ท้องเสีย จนต้องไปโรงพยาบาลในวันที่ 18 มิ.ย. ไม่ได้ติดการเมือง” นายชัยธวัช กล่าว

จากนั้นผู้สื่อข่าวแซวว่านายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ยังแซวว่าไปแอบเจอกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย มาหรือเปล่า นายชัยธวัช ยิ้ม พร้อมตอบว่า “ไม่รู้สิ น่าสงสัยเนอะ”

นายชัยธวัชยังให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการเจรจาตำแหน่งประธานสภา ว่าเรายังเสนออยู่ว่าโดยหลักการทั่วไป ประธานสภาก็ควรเป็นของพรรคอันดับ 1 ซึ่งคงต้องให้เวลาพรรคเพื่อไทยในการพูดคุยให้ได้ข้อสรุปเป็นกระบวนการภายในพรรคก่อน เมื่อถามว่าเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เพื่อไทยตัดสินใจยกตำแหน่งประธานสภาให้พรรคก้าวไกลคืออะไร นายชัยธวัช กล่าวว่า ไม่มีอะไร ตนคิดว่าเป็นหลักการทั่วไปในระบบรัฐสภา ซึ่งพวกเราควรจะช่วยกันฟื้นฟูให้การเมืองกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยปกติตามระบบรัฐสภา  

เมื่อถามว่าที่ผ่านมา คนของพรรคเพื่อไทยมีการพูดถึงว่าเก้าอี้ประธานสภาต้องเป็นของพรรคเพื่อไทยเท่านั้น มีผลต่อการเจรจาของพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องให้ผ่านกระบวนการวันที่ 27 มิ.ย. ที่พรรคเพื่อไทยจะมีการประชุมกันในพรรคก่อน ก็ต้องรอดู ตนคิดว่าจะนำไปสู่ข้อสรุปที่ดีที่จะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันประสบความสำเร็จ เรายังเชื่อว่าทั้งพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย ยังคงมุ่งมั่นทำตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่ได้แสดงออกมาแล้ว ผ่านการเลือกตั้งที่อยากจะเห็นพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมขึ้นมาบริหารประเทศแทนรัฐบาลชุดที่ผ่านมา  

เมื่อถามถึงความคืบหน้าในการเจรจา ส.ว. เป็นอย่างไรบ้าง เพราะมีความเคลื่อนไหวจาก ส.ว. ที่เคยระบุว่าสนับสนุนนายพิธา แต่เวลานี้จะไม่โหวตเลือกนายพิธาแล้ว นายชัยธวัช กล่าวว่า ตนคิดว่า ส.ว. ส่วนใหญ่จะรอดู ขั้นแรกคือการเลือกประธานสภา ส.ว. ส่วนใหญ่ เราเชื่อว่ายังมีมาตรฐานเหมือนเดิมในปี 62 ว่าถ้าพรรคการเมืองใด สามารถรวบรวมเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรได้ ก็สมควรได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดังนั้นการเลือกประธานสภาก็จะสะท้อนว่าการจับมือร่วมกันระหว่าง 8 พรรคการเมืองที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำยังคงมีความเหนียวแน่นเหมือนเดิม เมื่อผ่านเรื่องนี้ไปแล้ว ก็จะทำให้ ส.ว. จำนวนมากมีความเชื่อมั่นว่า พรรคก้าวไกลยังเป็นแกนนำในการรวบรวมเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎรได้ 

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการขอให้พรรคก้าวไกลลดเพดานเรื่องมาตรา 112 นายชัยธวัช กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นความเหมาะสมของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแต่ละพรรค ทุกคนที่เป็นคนไทยได้แสดงออก ได้ตัดสินใจ ได้เลือกได้ใช้วิจารณญาณของตัวเองออกไปแล้วพร้อมกัน ในฐานะประชาชนที่มีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงผ่านการเลือกตั้ง ดังนั้นในขั้นตอนของการเลือกนายกฯ ผ่านสภา เรายังหวังว่าทุกฝ่ายที่ปรารถนาดีกับบ้านเมืองจะยึดมั่นว่าถ้าพรรคการเมืองไหน สามารถรวบรวมเสียงส่วนใหญ่ ชนะการเลือกตั้งมาแล้ว ก็ควรจะเป็นนายกฯ เป็นกระบวนการที่ควรจะเป็นในระบบรัฐสภา ตนยังหวังว่า ส.ว. จำนวนมากยึดมั่นในหลักการนี้ ตอนปี 62 พรรคอันดับหนึ่งไม่สามารถขึ้นเป็นนายกฯ ได้ เพราะเกิดกระบวนการแทรกซ้อน และพรรคอันดับ 2 สามารถรวบรวมเสียงส่วนใหญ่ได้ ทาง ส.ว. ก็ให้เหตุผลว่า ตอนนั้นอีกพรรคหนึ่ง ข้าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สามารถรวบรวมเสียงส่วนใหญ่ได้และเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ก็ต้องยอมรับ เรายังอยากเห็นมาตรฐานนี้เหมือนกันในปี 2566  

เมื่อถามว่าหากผลในวันเลือกนายกฯ เพื่อไทยสามารถเป็นนายกฯ ก้าวไกลยังร่วมกับเพื่อไทยได้หรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ตนยังเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยมีความมุ่งมั่นและจริงใจ ที่จะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคก้าวไกล เราเองและอีกหลายๆ พรรคได้ผ่านการต่อสู้ ผลักดันเพื่อให้ประเทศไทยกลับไปเป็นประชาธิปไตยมาแล้ว เราเคยต่อต้านการรัฐประหารร่วมกันมาแล้ว เราเคยไม่เห็นด้วยกับการใช้กระบวนการพิเศษจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร เราก็ไม่เห็นด้วยกับเมื่อปี 62 ที่พรรคที่ไม่ได้ชนะเลือกตั้งไปใช้เงื่อนไขและใช้อำนาจพิเศษไปรวบรวมเสียงข้างมากและขึ้นมาเป็นรัฐบาลแทนได้ ดังนั้นตนยังเชื่อมั่นว่า พรรคเพื่อไทยยังเชื่อมั่นที่จะฟื้นฟูประชาธิปไตยร่วมกับพรรคก้าวไกล  

เมื่อถามถึงกรณีที่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เสนอให้เปลี่ยนวันชาติกลับมาเป็นวันที่ 24 มิ.ย. นั้น นายชัยธวัช กล่าวว่า เรื่องนั้นตนเข้าใจว่าเป็นการพูดถึงประวัติศาสตร์ว่าวันที่ 24 มิ.ย. เคยถูกกำหนดให้เป็นวันชาติ ปัจจุบันไม่ได้เป็นแล้ว และมีหลายฝ่ายก็เคยเสนอให้วันสำคัญทางการเมืองในทางประชาธิปไตยเป็นวันหยุด เพื่อให้ความสำคัญกับคุณค่าในทางประชาธิปไตย เช่น มีคนเคยเสนอว่าให้วันที่ 14 ต.ค. เป็นวันหยุด เป็นต้น  ซึ่งเรื่องนี้เป็นความคิดเห็นที่หลากหลาย ตนคิดว่า เรื่องนี้ยังไม่ใช่ประเด็นที่จะมาถกเถียงกันในตอนนี้