การใส่ใจในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน เป็นเทรนด์ของการทำธุรกิจยุคใหม่ที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบจากการทำธุรกิจรอบด้าน ไม่ได้มองแต่กำไรเป็นที่ตั้งเหมือนในอดีต ดังจะเห็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ยื่นเข้าจดทะเบียนในรายชื่อหุ้นยั่งยืน (THSI) เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี

ในปี 2558 มีหุ้นที่ขอจดทะเบียนหุ้นยั่งยืนเพียง 51 บริษัท และเพิ่มขึ้นเป็น 168 บริษัทในปี 2565 โดยแบ่งเป็นหุ้นใน SET จำนวน 155 บริษัท และในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (MAI) 13 บริษัท หากเจาะลึกลงไปในรายละเอียดจะพบว่า อุตสาหกรรมที่มีจำนวนบริษัทจดทะเบียนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มบริการ 33 บริษัท กลุ่มทรัพยากร 28 บริษัท และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง 27 บริษัท บริษัทจดทะเบียนในรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม 14 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 73% เมื่อเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดทั้งหมดของ SET และ MAI (มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ 10 เมษายน 2566)

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า ผู้ประกอบการไทยมุ่งมั่นจะพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างมั่นคงต่อเนื่อง พร้อมรับมือกับปัจจัยการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ยินดีเปิดเผยข้อมูล เช่น นโยบายด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม เป้าหมาย ข้อมูลผลการดำเนินงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม การดูแลพนักงาน ชุมชน และสังคมผ่านกระบวนการทางธุรกิจ

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า การปรับตัวของภาคธุรกิจสอดคล้องไปกับกระแส “การลงทุนแบบมีความรับผิดชอบ (Responsible Investment)” ในปัจจุบันที่มาแรงมาก เพราะนักลงทุนที่เป็นเจ้าของจะต้องตัดสินใจว่า จะลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินของกิจการใด ธุรกิจที่ระดมทุนนั้น ดำเนินกิจการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมหรือไม่

นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลนานาประเทศที่ขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ตามข้อตกลงการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ซึ่งนานาประเทศได้ปรับตัวรับวาระนี้ เช่น สหภาพยุโรป (EU) กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ โดยมีกลไกการทำงานที่เรียกว่า กลไกการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) กำหนดหลักการลดความได้เปรียบด้านต้นทุนของสินค้านำเข้าจากประเทศนอก EU ขณะที่สหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ อยู่ระหว่างการพิจารณาออกมาตรการที่มีแนวทางการเรียกเก็บภาษีนำเข้าตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาตรการเหล่านี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจและ Supply Chain ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้ส่งออกของแต่ละประเทศ รวมถึงผู้ส่งออกไทย ต้องเร่งปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชย

ดร.รักษ์ กล่าวว่า EXIM BANK ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย มีเจตนารมณ์แน่วแน่และเป้าหมายที่ชัดเจนที่จะให้ภาคการเงินเป็นเสาหลักสำคัญในการผลักดันให้เกิดการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจน จึงสร้างกรอบการทำงานใหม่ที่นำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ไปผสมผสานกับแนวทางพัฒนา BCG (Bio-Circular-Green Economy)และ ESG (Environmental, Social and Governance) มุ่งสู่การสร้างแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและสมดุล ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทำให้ EXIM BANK พลิกโฉมไปสู่การเป็น Green Development Bank ในระยะข้างหน้า

เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จตามเจตนารมณ์ที่จะเป็น Green Development Bank ธนาคารได้จัดโครงสร้างการบริหารจัดการการเงิน รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อให้พอร์ตสินเชื่อด้านความยั่งยืนของ EXIM BANK ขยายเพิ่มขึ้น จากสัดส่วน 30% ในปัจจุบัน เป็น 50% ภายใน 3 ปีข้างหน้า และระดมทุนด้วยการออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม(Green Bond) อย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นเงินทุนสนับสนุนธุรกิจสีเขียวหรือธุรกิจที่ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยได้ออกพันธบัตรล็อตแรกจำหน่ายแล้วเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565 จำนวน 2 รุ่น วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท และออกพันธบัตร SME Green Bond เป็นล็อตที่ 2 ออกจำหน่ายเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 วงเงินรวม 3,500 ล้านบาท ซึ่งการจำหน่ายพันธบัตรทั้ง 2 ครั้งได้รับความสนใจจากนักลงทุนสูงมากและมียอดการจองซื้อเกินจำนวนที่ออกจำหน่าย

สำหรับการออกผลิตภัณฑ์การเงิน EXIM BANK ได้ปรับปรุงและออกสินเชื่อใหม่ สนับสนุนการปรับเปลี่ยนธุรกิจให้เป็น ESG และ BCG โดยสินเชื่อ EXIM Green Start เป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการในทุกขนาดธุรกิจ (SML) และทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ที่ดำเนินธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วงเงินหมุนเวียนสูงสุด 200 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้สูงสุด 3 ปี อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น Prime Rate -2.25% ต่อปี หรือประมาณ 4.25% ต่อปี

EXIM Export Ready Credit หรือสินเชื่อเอ็กซิมเติมทุนส่งออก ได้เพิ่มวงเงินสูงสุดจาก 5 ล้านบาทต่อราย เป็น 20 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น Prime Rate -2.00% ต่อปี (ประมาณ 4.50% ต่อปี) และเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการที่มีการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมให้ได้รับส่วนลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ต่อปีในปีแรก ทั้ง 2 บริการสามารถยื่นขอสินเชื่อได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 30 เมษายน 2567

สินเชื่อ Solar Orchestra ระยะที่ 3 สนับสนุนผู้ประกอบการ ที่ต้องการลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับใช้ภายในกิจการ รวมถึงเงินลงทุนสำหรับปรับปรุงหลังคาก่อนการติดตั้ง Solar Rooftop พร้อมได้สิทธิการขึ้นทะเบียนและรับรองคาร์บอนเครดิตตลอด 7 ปี

“การวางแผนปรับธุรกิจสู่ ESG กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินธุรกิจตามมาตรฐานสากลเนื่องจากในปัจจุบันผู้บริโภคทุกกลุ่มไม่ใช่เฉพาะที่มีรายได้สูงให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อสนับสนุนสินค้ารักษ์โลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่น การเลือกใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แทนยานยนต์ใช้น้ำมัน  การลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผู้ประกอบการรายใดที่นำ ESG มาใช้ในการดำเนินธุรกิจก็จะมีภาพลักษณ์ที่โดดเด่นขึ้นในสายตาผู้บริโภคอีกด้วย” ดร.รักษ์ กล่าว