จากประเด็นที่กำลังมีการดราม่า กรณีเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรเข้าไปจับล้งทุเรียน โดยระบุ มีการลักลอบนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ต่อมาทางเจ้าของล้ง ก็ออกมาโต้ว่าเป็นทุเรียนจากศรีสะเกษ พร้อมกับมีข้อเท็จจริงที่ต่างฝ่ายออกมาไม่ตรงกันในหลายประเด็น ซึ่งจะต้องรอผลสอบสวนข้อเท็จจริง ว่าท้ายสุดจะออกมาเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ดี มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ที่มีการระบุว่า กรมศุลฯ มีการนำผลทุเรียนออกไปจำหน่ายแล้ว โดยใช้วิธี “ปันส่วน” ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่า การปันส่วน คืออะไร แล้วทำได้ไหม ทีมเศรษฐกิจ เดลินิวส์ พามาหาคำตอบกัน

การ “ปันส่วน” ถือว่าเป็นการทำได้ตามระเบียบของกรมศุลกากร ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจำหน่ายของกลาง พ.ศ. 2563 ซึ่งได้ออกระเบียบเพื่อให้การจำหน่ายของกลางดำเนินการด้วยความโปร่งใส เป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้เสีย และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการ

ทั้งนี้ในระเบียบนี้ ได้ระบุนิยามของคำว่า ของกลางของแผ่นดิน หมายความว่า

(๑) ของหรือสิ่งที่ยึดไว้โดยศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ริบตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการศุลกากร

(๒) ของหรือสิ่งที่ยึดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการศุลกากร และผู้ถูกจับกุมยินยอมทำความตกลงระงับคดีโดยยกของกลางให้เป็นของแผ่นดินและได้มีการเปรียบเทียบงดการฟ้องร้อง ตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา ๒๕๖ หรือมาตรา ๒๕๗

(๓) ของหรือสิ่งที่ยืดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการศุลกากรแล้วตกเป็นของแผ่นดินโดยผลของกฎหมาย เช่น ของที่เจ้าของหรือผู้มีสิทธิไม่มายื่นคำร้องขอคืนภายในกำหนด ตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๑๖๗ เป็นต้น

“ของสดของเสียได้” หมายความว่า ของที่หากปล่อยไว้ในสภาพธรรมชาติจะเสื่อมสภาพหรือเสียหายทั้งหมดหรือบางส่วน หรือเสื่อมคุณสมบัติเดิมจนไม่อาจใช้ประโยชน์ได้ตามปกติ เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ หรือปลา เป็นต้น

“ของซึ่งถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงความเสียหาย” หมายความว่า ของที่หากจำหน่ายล่าช้าจะเสี่ยงความเสียหายต่อประโยชน์ของทางราชการ เช่น ของที่มีเวลาหมดอายุ ของที่นิยมกันทั่วไปในชั่วระยะเวลาหนึ่ง ของที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เครื่องสำอาง หรือของประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

“ของซึ่งค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาจะมากเกินสมควร” หมายความว่า ของที่มีค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาหรือดูแลมากเกินราคาประเมินของกลางรวมค่าภาษีอากรทุกประเภท หรือจำหน่ายแล้วเป็นที่แน่ชัด ว่าจะไม่คุ้มค่าภาระติดพัน เช่น ของที่ต้องเก็บรักษาไว้ในห้องควบคุมอุณหภูมิ ของที่ต้องเก็บรักษาโดยวิธีเฉพาะหรือของที่ต้องจ่ายค่าเช่าพื้นที่เพื่อเก็บรักษาสูง เป็นต้น

ทั้งนี้ หากเข้าข่ายประเภทดังกล่าว ให้มีการจำหน่ายของกลางได้โดยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ดังนี้

(๑) ขายทอดตลาด

(๒) ขายคืนเจ้าของ

(๓) ขายปันส่วน

(๔) ส่งมอบส่วนราชการ

(๕) ทำลาย

(๖) วิธีการอื่นตามอนุมัติอธิบดี

นอกจากนี้ ในระเบียบยังระบุด้วยว่า ของที่ยังไม่ตกเป็นของแผ่นดินซึ่งเป็นของสดเสียได้ หรือของซึ่งถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงความเสียหาย หรือของซึ่งค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาจะมากเกินสมควร อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย มีอำนาจจำหน่ายได้ก่อนตกเป็นของแผ่นดินโดยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ดังนี้

(๑) ขายทอดตลาด

(๒) ขายคืนเจ้าของ

(๓) ขายปันส่วน

สำหรับวิธีการการจำหน่ายของกลางโดยวิธีขายปันส่วน ซึ่งเป็นแนวทางที่กรมศุลกากร เลือกใช้ในการจำหน่ายทุเรียนออกไปรอบนี้  ได้กำหนดวิธีการและเงื่อนไข ดังนี้

(๑) ให้ขายปันส่วนเพื่อสวัสดิการแก่เจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งนี้ ผู้ซื้อของปันส่วนต้องไม่นำไปขายต่อให้กับบุคคลอื่นในลักษณะแสวงหากำไร

(๒) ให้ขายปันส่วนแก่หน่วยงานอื่นของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานภายใต้กำกับของรัฐได้โดยมีเงื่อนไขว่าหน่วยงานนั้นต้องไม่ให้ผู้ได้รับของปันส่วนนั้นนำไปขายต่อให้กับบุคคลอื่นในลักษณะแสวงหากำไร

(๓) การขายปันส่วนแก่บุคคลอื่นนอกจากบุคคลตาม (๑) และ (๒) ให้กระทำได้แต่เฉพาะกรณีการขายในงานแสดงสินค้า เทศกาล หรือนิทรรศการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ในลักษณะเป็นการทั่วไป