เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ดร.อรรถพล  สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันทั่วโลกได้หันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนให้มีทักษะรองรับโลกยุคใหม่ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สภาการศึกษาได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประชุม

สุดยอดทักษะ (OECD Skills Summit 2024) ณ กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม ซึ่งมีประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co – operation and Development: OECD) กว่า 30 ประเทศเข้าร่วมประชุม ล้วนแล้วแต่อภิปรายถึงความสำคัญจำเป็นของการพัฒนาคนโดยเน้นทักษะเป็นฐานทั้งสิ้น และเมื่อเร็วๆ นี้ Harvard Business Review ระบุว่าบริษัทใหญ่ๆ เช่น Google, Delta Airlines และ Accenture กำลังมีนโยบายรองรับโลกยุคใหม่ด้วยการลบข้อกำหนดด้านปริญญาออกจากประกาศรับสมัครงาน เปลี่ยนมาเน้นการจ้างงานตามทักษะ โดยเชื่อว่าแนวทางดังกล่าวจะช่วยให้องค์กรสามารถเข้าถึงกลุ่ม Talent และได้คนที่มีความสามารถพิเศษเข้ามาร่วมงานอย่างไม่จำกัด เปิดโอกาสให้คนทุกระดับที่มีความสามารถแต่ไม่ได้ผ่านการบ่มเพาะจากมหาวิทยาลัย เข้าทำงานในองค์กรชั้นนำได้ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของฝั่งผู้สมัครงานโดยผลสำรวจของ Gartner พบว่า 75% ของผู้สมัครงานต้องการทำงานแบบ Remote Work ที่ไม่ต้องเข้ามานั่งทำงานที่ออฟฟิศ หรือการทำงานแบบไฮบริดที่เข้ามาประชุมทีมงานได้ในบางวัน

ในขณะที่สถานการณ์ของประเทศไทยจากรายงานการสำรวจทักษะและความพร้อมเยาวชนและประชากรวัยแรงงานในประเทศไทย พ.ศ. 2565 โดยธนาคารโลกร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคและหลายหน่วยงาน พบว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตด้านทักษะ โดยมีทักษะพื้นฐานชีวิตที่ “ตํ่ากว่าเกณฑ์” ไม่มีความสามารถในการอ่านหนังสือขั้นพื้นฐาน ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การอ่านออกเขียนได้ แต่ต้องทำความเข้าใจ ประเมิน วิเคราะห์ได้ การคำนวณอย่างง่าย รวมถึงการมีส่วนร่วมกับผู้อื่นหรือเปิดรับแนวคิดใหม่ ๆ ทำให้ไม่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ได้ และส่งผลถึงทักษะในการทำงานและเป็นห่วงโซ่กระทบถึงเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศต่อไป

เลขาธิการสกศ.กล่าวต่อไปว่า การประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 ที่มีพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ได้มีมติเห็นชอบชุดทักษะที่จำเป็น (Essential Skills Set) สำหรับเด็กและเยาวชนไทย ใน 2 กลุ่มชุดทักษะ ได้แก่ (1) ชุดทักษะขั้นพื้นฐาน (Basics Skills) และ (2) ชุดทักษะขั้นสูง (Advanced Skills Set) จึงเป็นนโยบายสำคัญที่จะช่วยแก้วิกฤตินี้อีกทางหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดีการมีนโยบายไม่สามารถประกันผลลัพธ์ จำเป็นต้องเร่งปรับการเรียนการสอนที่เน้นทักษะเป็นฐาน และหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัดต้องเร่งทำความเข้าใจและเตรียมผู้สอนเพื่อขับเคลื่อนชุดทักษะที่จำเป็น (Essential Skills Set) สำหรับเด็กและเยาวชนไทยโดยเร็วก่อนที่จะฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยต่อไป