รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) แจ้งว่า สำนักสำรวจและออกแบบ ดำเนินโครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมืองลพบุรี (ด้านเหนือ) ระยะทาง 19.423 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 6,800 ล้านบาทแล้วเสร็จ พร้อมจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้วจะดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 234 แปลง 801 ไร่ วงเงินค่าเวนคืน 610 ล้านบาท พื้นที่เวนคืนส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่เกษตรกรรม รวมทั้งของบประมาณก่อสร้าง คาดว่าเริ่มก่อสร้างช่วงกลางหรือปลายปี 69-72 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี

จุดเริ่มต้นโครงการอยู่บริเวณแยกสนามไชย อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี เป็นจุดตัดระหว่าง ทล.311 บริเวณ กม.ที่ 11+613 กับ ทล.366 (ทางเลี่ยงเมืองลพบุรีด้านใต้) มุ่งหน้าไปทางทิศเหนือและเบี่ยงแนวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตัดผ่านพื้นที่เกษตรกรรม คลองหนองรี ถนนเลียบคลองชลประทาน ถนนทางหลวงชนบทบน ลบ.4132 ถนนท้องถิ่น คลองชลประทาน ตัดผ่านทางหลวงชนบทหมายเลข ลบ.4128 และทางรถไฟสายเหนือ ห่างจากสถานีโคกกะเทียมไปทางเหนือ 3.6 กม. จากนั้นตัดผ่าน ทล.3196 คลองชัยนาท-ป่าสัก และเบี่ยงไปทางทิศตะวันออกตัดกับ ทล.3024 แล้วบรรจบกับ ทล.1 (ถนนพหลโยธิน) กม.ที่ 173+100 จุดสิ้นสุดโครงการ แนวเส้นทางจะผ่านเขต ต.โพธิ์ตลาดแก้ว อ.ท่าวุ้ง ต.บางขันหมาก ต.โคกกะเทียม และ ต.เขาพระงาม อ.เมืองลพบุรี

ส่วนรูปแบบเป็นถนนตัดใหม่ขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับ มีทางแยกต่างระดับ 2 แห่ง ได้แก่ 1.จุดเริ่มต้นโครงการบริเวณจุดตัดกับ ทล.311 (แยกสนามไชย) จะเป็นรูปแบบสะพานข้ามทางแยกตาม ทล.311 และทางเลี้ยววน (Loop Ramp) มีรายละเอียดดังนี้ ออกแบบสะพานข้ามทางแยกตามแนว ทล.311 เป็นสะพานสูงระดับ 2 ขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับ ความยาวสะพาน 800 เมตร ทิศทางจาก จ.สิงห์บุรี-อ.เมืองลพบุรี ข้าม ทล.366 (ทางเลี่ยงเมืองลพบุรีด้านใต้) และลอดใต้รถไฟทางคู่ ลพบุรี-ปากน้ำโพ รวมทั้งออกแบบสะพานทางเลี้ยววน (Loop Ramp) ยกระดับจาก ทล.311 ขนาด 1 ช่องจราจร ทิศทางจาก จ.สิงห์บุรี เลี้ยวขวาเข้าสู่ทางเลี่ยงเมืองลพบุรี มุ่งหน้าไป จ.สระบุรี และออกแบบสะพานทางเลี้ยววน (Loop Ramp) ยกระดับจาก ทล.311 ขนาด 1 ช่องจราจร ทิศทางจาก อ.เมืองลพบุรี เลี้ยวขวาเข้าสู่ทางเลี่ยงเมืองลพบุรี มุ่งหน้าไป อ.โคกสำโรง สำหรับทิศทางเลี้ยวขวาที่เหลือให้กลับรถบน ทล.366 (ทางเลี่ยงเมืองลพบุรีด้านใต้) สำหรับรถที่ต้องการเลี้ยวซ้ายสามารถเลี้ยวซ้ายผ่านตลอดเป็นทางระดับพื้น

2.จุดสิ้นสุดโครงการบริเวณจุดตัดกับถนนพหลโยธิน รูปแบบทางแยกต่างระดับลักษณะทรัมเป็ตทิศเหนือ (Trumpet Interchange (North)) มีรายละเอียดดังนี้ ออกแบบสะพานสูงระดับ 2 ยกระดับจากถนนพหลโยธิน จาก จ.นครสวรรค์ เลี้ยวขวาเข้าสู่ทางเลี่ยงเมืองลพบุรี มุ่งหน้าไป จ.สระบุรี รวมทั้งออกแบบสะพานทางเลี้ยววน (Loop Ramp) เป็นสะพานสูงระดับ 2 ยกระดับจากทางเลี่ยงเมืองลพบุรี เลี้ยวขวา เข้าสู่ถนนพหลโยธินมุ่งหน้าไป อ.เมืองลพบุรี สำหรับทางตรงบนถนนพหลโยธินสามารถผ่านตลอด ทิศทางจาก อ.เมืองลพบุรี ไป จ.นครสวรรค์ และทิศทางจาก จ.นครสวรรค์ เข้าสู่ อ.เมืองลพบุรี สำหรับรถที่ต้องการเลี้ยวซ้าย สามารถเลี้ยวซ้ายผ่านตลอดเป็นทางระดับพื้น นอกจากนี้จะออกแบบจุดกลับรถระดับพื้นใต้ทางแยกต่างระดับบนทางเลี่ยงเมืองลพบุรี สำหรับกลับรถจากทางเลี่ยงเมืองลพบุรีไป จ.สระบุรี

ทั้งนี้ได้ออกแบบสะพานบกหรือสะพานยาวต่อเนื่อง ความยาวช่วงประมาณ 20-30 เมตร ก่อสร้างบริเวณที่แนวเส้นทางโครงการตัดผ่านพื้นที่รับน้ำ 2 แห่ง ได้แก่ 1.พื้นที่รับน้ำหลากทุ่งท่าวุ้ง และ 2.พื้นที่รับน้ำหลากทุ่งชัยนาทป่าสัก ซึ่งพื้นที่รับน้ำหลากเป็นเครื่องมือบรรเทาปัญหาโดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ ป้องกันไม่ให้แนวเส้นทางโครงการเป็นคันกั้นน้ำและกีดขวางทางระบายน้ำ รวมทั้งมีจุดกลับรถ ระบบระบายน้ำ และระบบไฟฟ้าส่องสว่างตามแนวเส้นทาง

นอกจากนี้นำงานภูมิสถาปัตยกรรมมาใช้บริเวณทางแยกต่างระดับจุดเริ่มต้นโครงการ และทางแยกต่างระดับจุดสิ้นสุดโครงการ แนวคิดการใช้พันธุ์ไม้ เพื่อประกอบการออกแบบในโครงการ เป็นพันธุ์ไม้พุ่มและพันธุ์ไม้คลุมดิน เพื่อไม่ให้บดบังทัศนวิสัยการขับขี่ เลือกใช้พันธุ์ไม้ที่ดูแลรักษาได้ง่าย ทนทานต่อสภาพแวดล้อม มีประโยชน์ช่วยแบ่งแนวเขต สร้างกรอบสายตานำไปสู่จุดหมายที่ต้องการได้ เพิ่มชีวิตชีวา ไม่ดูแห้งแล้งเกินไป โดยพันธุ์ไม้ที่เลือกใช้ มีต้นเฟื่องฟ้าเขียวและเข็มเหลือง

ปัจจุบัน อ.เมืองลพบุรี เป็นเมืองที่มีอัตราการขยายตัวด้านเศรษฐกิจสูงมาก เนื่องจากมีการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวแนวโน้มมากขึ้นทุกปี ส่งผลให้มีความต้องการเดินทางในโครงข่ายทางหลวงและถนนในเขตเมืองลพบุรีสูงขึ้น ปัจจุบันทางเลี่ยงเมืองลพบุรีด้านใต้ขยายเป็น 4 ช่องจราจรตลอดสาย 19.3 กม. เสร็จแล้ว จึงเตรียมความพร้อมด้านโครงข่ายถนน รองรับปัญหาการจราจรและขนส่งสินค้าในอนาคต โดยการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองลพบุรีด้านเหนือ เพื่อให้เกิดเป็นโครงข่ายถนนวงแหวนรอบเมืองลพบุรี เป็นทางเลือกสำหรับผู้เดินทางระยะไกล ที่ไม่จำเป็นต้องผ่านเขตตัวเมืองลพบุรีใช้เป็นทางเลี่ยงเมืองด้านเหนือ จากการตรวจสอบพื้นที่โครงการเบื้องต้นพบว่าในระยะ 1 กม. จากกึ่งกลางแนวเส้นทางโครงการ พบโบราณสถาน ได้แก่ ศาลาตาหลวง และวัดสนามไชย จึงเข้าข่ายต้องจัดทำอีไอเอ

ทล. จึงว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด และบริษัท ธรรมชาติ คอนซัลแตนท์ จำกัด เริ่มดำเนินงานวันที่ 18 ก.พ. 65-13 พ.ค. 66 ระยะเวลาศึกษา 15 เดือน งบศึกษา 25 ล้านบาท เมื่อโครงการแล้วเสร็จ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายทางหลวงการคมนาคมขนส่งสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย แก้ปัญหาการจราจรติดขัดในเขตตัวเมืองลพบุรี ลดผลกระทบต่อโบราณสถาน สิ่งแวดล้อม และลดอุบัติเหตุในการสัญจร