นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ในเดือน ก.ย. 66 กองบังคับการตำรวจรถไฟ (บก.รฟ.) จะถูกยุบไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ส่งผลให้ตั้งแต่เดือน ต.ค. 66 รฟท. จะไม่มีตำรวจรถไฟดูแลความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้บริการรถไฟ โดยเฉพาะการจัดการควบคุม ป้องกัน และปราบปรามการก่ออาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งบริเวณสถานีรถไฟ ภายในขบวนรถไฟ และตลอดเส้นทางรถไฟทั่วประเทศเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ รฟท. อยู่ระหว่างหาทางออกร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) เพื่อยังคงทำให้ผู้ใช้บริการ มีความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินต่อไป

นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ รฟท. ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในเขตระบบรถไฟกับ บช.ก. แล้ว เพื่อส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูแลความปลอดภัย ป้องกัน และปราบปรามปัญหาอาชญากรรมในเขตระบบรถไฟทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ส่วนการให้ตำรวจขึ้นประจำบนขบวนรถไฟนั้น อยู่ระหว่างหารือเพิ่มเติม เพราะต้องพิจารณาด้วยว่าสามารถทำได้หรือไม่ และโครงสร้างตำรวจสามารถให้อำนาจตำรวจที่อยู่บนรถไฟสืบสวนตลอดเส้นทางทั่วประเทศได้หรือไม่ ทั้งนี้เดิมตำรวจที่อยู่บนรถไฟจะรับเวรต่อกันในแต่ละเขตพื้นที่ โดยจะดูแลตลอดเส้นทางในเขตพื้นที่ที่ตนเองรับผิดชอบ หากรถไฟแล่นผ่านเขตที่รับผิดชอบไปแล้ว ก็จะเป็นอำนาจของตำรวจที่อยู่ในเขตพื้นที่ต่อไป ทำหน้าที่ดูแล และสืบสวนหากเกิดเหตุ

นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการประสานกับ สตช. เพื่อจัดส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาประจำที่สถานีตำรวจย่อย ซึ่งจะตั้งอยู่ในพื้นที่ของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อดูแลความปลอดภัยให้ผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งในอนาคตสถานีกลางฯ ก็จะเป็นศูนย์กลางระบบขนส่งทางรางของประเทศไทย ที่จะมีผู้มาใช้บริการเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ตำรวจที่จะมาประจำที่สถานีกลางฯ นั้น อาจจะมีมาจากหลายหน่วย อาทิ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด โดยขณะนี้ได้มีการหารือกันเบื้องต้นแล้ว

นายนิรุฒ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาในการดูแลความปลอดภัยให้ผู้ใช้บริการ นอกจากมีตำรวจคอยช่วยสอดส่อง ควบคุม ป้องกัน และปราบปรามการก่ออาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ แล้ว ก็จะมีเจ้าหน้าที่ของ รฟท. ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้ผู้ใช้บริการด้วย หากไม่มีตำรวจรถไฟมาดูแล รฟท. ก็ไม่ได้กระทบ 100% เพราะยังมีเจ้าหน้าที่ รฟท. ดูแลอยู่ แต่ก็ไม่เหมือนกับการมีตำรวจ ซึ่งจะช่วยดูแลได้ดีกว่า โดยเฉพาะแต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดๆ เบื้องต้น รฟท. เตรียมแผนจะจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) เข้ามาช่วยดูแลเพิ่มเติม แต่ยอมรับว่าประสิทธิภาพในการดูแลความปลอดภัยก็อาจลดลงไปได้ ดังนั้นหากทาง บช.ก. ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยดูแลให้ รฟท. ก็จะไม่จ้าง รปภ. เพิ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า บก.รฟ. มีอัตรากำลังตำรวจรถไฟทั่วประเทศ 870 คน ที่ผ่านมา ตำรวจรถไฟมีผลงานมากมาย อาทิ จับผู้ต้องหาคดียาเสพติด ผู้ต้องหาตามหมายจับ ผู้ต้องหาคดีข่มขืน รวมทั้งช่วยเหลือสังคม โดย บช.ก. ยินดีส่งตำรวจรถไฟที่เลือกจะอยู่สังกัด บช.ก. ต่อ ไปทำหน้าที่ตามคำร้องขอของ รฟท. นอกจากนี้ยังมีแนวคิดอยากให้มีตำรวจรถราง เนื่องจากในอนาคตนอกจากรถไฟแล้ว จะมีรถไฟฟ้าอีกหลายเส้นทาง และมีรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) หากไม่มีตำรวจรถไฟอยู่บนขบวนรถเหล่านี้ ก็จะมีความเสี่ยงเรื่องอาชญากรรมตามมา ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลด้วย.