เมื่อวันที่ 1 ก.ค. พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาขบวนการหลอกเหยื่อกดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันกรมพัฒนาธุรกิจการค้าปลอม โดยเบื้องต้นได้มีผู้ร่วมขบวนการ 25 ราย ในจำนวนนี้แบ่งเป็นสัญชาติไทย 20 ราย สัญชาติกัมพูชา 5 ราย ซึ่งสามารถทำการจับกุมตัวผู้ต้องหาตามหมายจับได้แล้ว 21 ราย อยู่ระหว่างติดตามตัวมาดำเนินคดีอีก 4 ราย ความเสียหาย 33 ล้านบาท

จนกระทั่งเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนได้สรุปสำนวนการสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาเสนอไปยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาตามกฎหมายต่อไปแล้ว ในข้อหา “ ร่วมกันลักทรัพย์ตั้งแต่สองคนขึ้นไป (โดยใช้กลอุบาย), ร่วมกันใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน, เข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน, สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันและร่วมกันฟอกเงิน “

โฆษกสอท. กล่าวว่่า ที่ผ่านมามีประชาชนหลายรายตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพจากการที่ได้รับข้อความสั้น (SMS) หรือได้รับสายโทรศัพท์แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ โดยมิจฉาชีพได้ปลอมช่องทางติดต่อสื่อสารกับผู้เสียหายขึ้นไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันไลน์ทางการปลอม เพจเฟซบุ๊กปลอม และเว็บไซต์ปลอมของหน่วยงานที่แอบอ้างนั้นๆ เพื่อพูดคุยสร้างความน่าเชื่อถือ สร้างเรื่องราวออกอุบายต่างๆ ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ กรอกข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงิน และสุดท้ายถูกหลอกให้กดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันของหน่วยงานปลอมเหล่านั้น มีการให้ทำตามขั้นตอนตั้งค่าให้สิทธิการเข้าถึง และให้สิทธิควบคุมโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้เสียหายใช้งาน หลอกลวงให้กรอกรหัส PIN 6 หลัก เป็นเหตุให้เงินของผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพโอนออกไปจนหมดบัญชี

ทั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่มีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทรศัพท์ไปหลอกลวงประชาชนให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมอ้างว่าเพื่อเป็นการอัปเดตข้อมูลนิติบุคคล จึงขอประชาสัมพันธ์ฝากเตือนไปยังประชาชนให้ระมัดระวังการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว เมื่อท่านได้รับข้อความสั้น (SMS) แนบลิงก์อ้างว่ามาจากหน่วยงานต่างๆ ให้ตรวจสอบให้ดีเสียก่อน อย่าหลงเชื่อเพียงเพราะเป็นข้อความที่ถูกส่งไปยังกล่องข้อความเดียวกับหน่วยงานจริงนั้นๆ เนื่องจากมิจฉาชีพสามารถปลอมแปลงชื่อผู้ส่งได้ ทั้งนี้ในปัจจุบันทุกธนาคารได้ยกเลิกการส่งข้อความสั้น (SMS) แนบลิงก์ไปยังประชาชนแล้ว หากท่านได้รับข้อความใดๆ เชื่อได้ว่าเป็นมิจฉาชีพอย่างแน่นอน และไม่ว่ามิจฉาชีพจะมาในรูปแบบใดก็ตาม ให้ระมัดระวังและมีสติอยู่เสมอ โดยหากพบเห็นข้อความสั้น (SMS) แนบลิงก์เข้ามาในลักษณะดังกล่าวให้แจ้งเตือนไปยังบุคคลใกล้ชิด และหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานนั้นๆ ให้ช่วยตรวจสอบทันที เพื่อลดการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ