สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานจากกรุงไนโรบี ประเทศเคนยา เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ว่า ภัยแล้งกำลังทำให้สัตว์ป่าที่มีชื่อเสียงของเคนยา ต้องอดอยากจากแหล่งอาหารปกติในที่โล่ง และผลักดันพวกมันเข้าสู่ความขัดแย้งรุนแรงกับมนุษย์ เมื่อพวกมันเข้าใกล้พื้นที่ชายขอบเมืองและหมู่บ้านต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อค้นหาอาหารอย่างสิ้นหวัง

ขณะที่นักอนุรักษ์หลายคนกล่าวว่า หากไม่มีการแทรกแซงเพื่อคุ้มครองสัตว์ป่า หรือถ้าไม่เกิดฝนตกต้องตามฤดูกาลอีกครั้ง สัตว์จำนวนมากในหลายพื้นที่ของประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก อาจเผชิญกับวิกฤติการมีชีวิตอยู่ได้

“มันเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อพวกเรา” นายแอนดรูว์ เลตูรา เจ้าหน้าที่ติดตามจากองค์กรเกรวีส์ ซีบร้า ทรัสต์ (จีแซดที) กล่าวเพิ่มเติมว่า ภัยแล้งฆ่าม้าลายเกรวีไปแล้วประมาณ 40 ตัว นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งตัวเลขข้างต้นเป็นการคาดการณ์จำนวนการตายของม้าลายตลอดทั้งปี แต่เมื่อมันเกิดขึ้นในเวลาเพียง 3 เดือน เขาจึงรู้สึกกังวลต่อประชากรม้าลายเกรวีที่เหลืออยู่

เจ้าหน้าที่ตรวจสอบซากม้าลายเกรวีตัวหนึ่ง ภายในอุทยานแห่งชาติซัมบูรู ประเทศเคนยา

ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์ในพื้นที่ตอนใต้ของเคนยา ก็น่าสิ้นหวังเช่นเดียวกัน เมื่อมีรายงานการตายของสัตว์หลายชนิดที่มากขึ้นกว่าเดิม 8 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดือน ก.ย. ตามปกติ

แม้สัตว์ป่าบางชนิดจะตายด้วยน้ำมือของมนุษย์ ตามรายงานที่พบการลักลอบล่าสัตว์ป่าเพิ่มขึ้น 5 เท่า เมื่อเทียบกับฤดูแล้งครั้งอื่น ๆ แต่ในขณะเดียวกัน หน่วยงานอนุรักษ์ “เซฟ ดิ เอเลแฟนต์ส” กล่าวว่า ช้างที่ถูกฆ่าด้วยปืนหรือหอก ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นนั้น พวกมันยังมีงาอยู่อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า พวกมันตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งกับมนุษย์ในพื้นที่ มากกว่าจะเป็นการล่าสัตว์อย่างผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกล่าวว่าวิกฤติครั้งนี้ไม่เกิดจากภัยแล้งเพียงอย่างเดียว โดยนายเดวิด ดาบาลเลน หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการภาคสนามของเซฟ ดิ เอเลแฟนต์ส กล่าวเสริมว่า การทำฟาร์มปศุสัตว์กำลังลดพื้นที่ของทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ และมันจะส่งผลให้ระบบนิเวศฟื้นตัวจากภัยแล้งได้ยากยิ่งขึ้น.

เครดิตภาพ : REUTERS