นาขั้นบันไดที่ใครต่อใครอยากไปให้ถึงสักครั้งก็คือ “นาขั้นบันไดบ้านดง” ต.ห้วยห้อม ใน อ.แม่ลาน้อย นาขั้นบันไดของ “ชุมชนท่องเที่ยวบ้านดง” แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่อยู่ไม่ไกลจากตัวอำเภอแม่ลาน้อย ที่ยังคงมีความเป็นธรรมชาติและบริสุทธิ์ อบอุ่นไปด้วยวิถีชีวิตที่งดงาม ทุก ๆ ปีช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมเป็นฤดูทำนาข้าว นักท่องเที่ยวจะได้พบกับความสวยงามของนาขั้นบันได

องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยห้อมบันทึกเรื่องราวของภูมิปัญญานาขั้นบันไดบ้านดงและวิถีชีวิตดั้งเดิมผ่านทางเฟซบุ๊ก ตั้งแต่ช่วงที่สายฝนเริ่มหยดลงมาประปรายปลายเดือนสี่หรือเดือนเมษายน ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าฤดูกาลหว่านข้าวเวียนมาถึง ชาวบ้านจะเริ่มเพาะต้นกล้าข้าว มีทั้งแบบการปลูกข้าวไร่ และแบบหว่านเมล็ดสำหรับใช้เป็นต้นกล้าการปลูกข้าวนาขั้นบันได โดยจะเลือกวิธีตามความเหมาะสมกับสภาพดินนาขั้นบันไดของแต่ละที่

กลางเดือนห้าหรือเดือนพฤษภาคม เสียงของรถไถที่คุ้นเคยดังมาจากผืนนาขั้นบันได เครื่องจักรที่มีการใช้งานแทนที่แรงงานสัตว์อย่างกระบือในการไถนา กลิ่นดินที่ถูกฝนตกกระทบลอยขึ้นมา เมื่อนํ้าฝนเพิ่มขึ้นมาในปริมาณที่เหมาะสม รถไถจะเกลี่ยดินเละละเอียดให้เรียบเสมอกับพื้นนา จากนั้นชาวนาจะเริ่มนำต้นกล้ามาปลูกเรียงเป็นแถวโดยมีช่วงห่างระหว่างที่กันเหมาะสม

จนกระทั่งลมหนาวพัดมาปลายเดือนตุลาคม ต้นข้าวในนาขั้นบันไดจะเหลืองอร่ามไปทั่ว เครื่องมือเก็บเกี่ยวข้าวที่เตรียมพร้อมไว้จะถูกนำมาใช้เกี่ยวต้นข้าวที่เหลืองอร่าม และรวงข้าวที่เกี่ยวเรียบร้อยจะถูกนำมาจัดเรียงเพื่อตากแห้งตามพื้นนา รอจนรวงข้าวแห้งเหี่ยวจากการถูกแสงแดดพร้อมที่จะนำมาฟาดเพื่อให้ข้าวเปลือกหลุดออกจากรวง โดยชาวบ้านจะนำมามัดรวมกันแล้วขนไปยังที่เตรียมไว้สำหรับฟาดข้าว โดยใช้ผ้าเต็นท์หลายผืนกางออกมาวางพื้นนาที่มีขนาดกว้างใหญ่เรียกว่า “อาบุฮ”

ผู้ที่ทำหน้าที่ฟาดข้าวจะใช้ผ้าที่ขนาดยาวพอประมาณมัดรวงข้าวที่แห้งแล้วให้แน่น แล้วส่งต่อให้กับผู้ที่ทำหน้าที่ตีข้าวที่ใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า ค้อน ทำมาจากไม้ไผ่มีขนาดความยาว 50-60 เซนติเมตร ปลายมีลักษณะโค้งงอลงมา นํ้าหนักเบา ตีซํ้าจนข้าวเปลือกร่วงจากรวงจนหมด ฟางข้าวจะถูกกองรวมกันเป็นภูเขาฟางข้าว สถานที่เด็ก ๆ ลูกชาวนาจะมาเล่นอย่างสนุกสนาน สร้างความสุขยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นจากวิถีชีวิตหรือธรรมชาติที่ไม่อาจสามารถหาได้จากนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ในปัจจุบัน

ภายในพื้นที่ของบ้านดงยังเป็นที่ตั้งของ “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย” ด้วย ที่นี่ยังคงมีความเป็นธรรมชาติ และบริสุทธิ์ อบอุ่นไปด้วยวิถีชีวิตที่งดงามของชาวเขาในปี พ.ศ. 2546 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎรเป็นครั้งที่ 2 และทรงรับสั่งให้ประธานมูลนิธิโครงการหลวง เข้าช่วยเหลือพัฒนาอาชีพแก่ชาวเขา โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม สังคมและสาธารณสุข เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ต้นนํ้าแม่ลาน้อยและแม่นํ้าแม่สะเรียงมีการปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอยอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2523 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อยได้ก่อตั้งขึ้น โดยใช้พื้นที่บ้านดงเป็นที่ทำการ ที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนซึ่งเป็นศูนย์กลางพัฒนาการศึกษา แก่เยาวชนในท้องถิ่น ครอบคลุม 14 หมู่บ้าน ประกอบด้วยชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง และเผ่าลัวะ

ตามเส้นทางจะพบกับความงามตลอด 2 ฝั่งข้างทาง แวะชมวิว พร้อมแวะเข้าชมแปลงผักปลอดสารพิษ ที่ปลูกตลอดทั้งปีเส้นทางนาข้าวขั้นบันไดสวย ๆ ในเขตอำเภอแม่ลาน้อย บริเวณที่จะสามารถชมได้สวยงามจุใจจะอยู่ที่ทางลงไปยังหมู่บ้านบ้านดงและโครงการหลวงแม่ลาน้อย โดยจุดชมวิวจะอยู่ริมถนนบนเชิงเขา จึงมองเห็นนาข้าวขั้นบันไดมุมสูงได้ไกลสุดลูกหูลูกตา

แล้วไปสัมผัสวิถีชุมชนอีกแห่งที่ “บ้านละอูบ” ชุมชนชาติพันธุ์ละว้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หมู่บ้านชาวละว้าบนภูเขาสูง ซึ่งได้รับการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากสำนักงานพัฒนาชุมชน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้เป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จังหวัดแม่ฮ่องสอน เส้นทางสู่บ้านแม่ละอูบนั้นมีความสูงชันและคดเคี้ยวพอสมควร ตามแนวไหล่เขา สามารถมองเห็นวิวทุ่งนาขั้นบันไดและภูเขาสูงใหญ่สลับซับซ้อนตลอดระหว่างสองข้างทาง เป็นอีกหนึ่งถนนสวย สะกดใจผู้มาเยือนตั้งแต่เริ่มแรกของการเดินทาง

กิจกรรมท่องเที่ยวในหมู่บ้าน ได้แก่ การชิมอาหารพื้นบ้านแบบละว้า เรียนรู้วิถีวัฒนธรรมประเพณีของชาวละว้า เช่น พิธีเลี้ยงผี ชมการผลิตงานหัตถกรรมจากกลุ่มทำเครื่องเงินละว้า กลุ่มผ้าทอละว้า กลุ่มกาแฟบ้านละอูบ สินค้าโอทอปของชุมชน นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ OTOP ที่โดดเด่น ได้แก่ ผ้าทอละว้า เครื่องเงิน กาแฟ และมีที่พักแบบโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวพักและเรียนรู้วิถีชีวิตชาวละว้า ชุมชนบ้านละอูบ อำเภอแม่ลาน้อย

แม่ฮ่องสอนเป็นหนึ่งในจังหวัดที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินโครงการตามนโยบาย Meaningful Travel การท่องเที่ยวที่ให้ประสบการณ์มากกว่าความหมาย เป็นความทรงจำไม่รู้ลืม โดยมีไฮไลต์ของโครงการตามชื่อ “THAI” ซึ่งประกอบด้วย Tranquil : ความสงบ เรียบง่าย ของธรรมชาติหน้าฝนของแม่ฮ่องสอน ผ่านความเขียวขจีของผืนป่าผลัดใบและหมอกฝน สมชื่อแม่ฮ่องสอน หมอก 3 ฤดู ในบรรยากาศงานดนตรีฤดูฝน “Mae La Noi Craft Camp 2023”

Homestay : โฮมสเตย์ ของชาวละว้าและชาวห้วยห้อม สัมผัสห้องครัวที่ให้ความอบอุ่นแก่สมาชิกในบ้านคลายความหวานเย็นที่พัดผ่านตลอดทั้งปี Adventure : ด้วยกิจกรรม Soft Eco Trekking ชมนาขั้นบันได ตลอดระยะทาง 12 กิโลเมตร จากบ้านดงสู่หมู่บ้านป่าแป๋ ชมผักสดโครงการหลวงและวิถีเกษตรชุมชนปลอดสาร และ Indegenous :สัมผัสวิถีชาติพันธุ์กลุ่มชาวละว้า ชิม “สะเบื๊อก” เมนูอาหารถิ่น ผ้าทอสีธรรมชาติ/ผ้าทอลายตวนดั้งเดิม และเรื่องเล่าผ่านประสบการณ์มากมาย

11-12 สิงหาคม นี้ ชาวแม่ลาน้อยชวนทุกคนมาปล่อยตัวปล่อยใจไปกับสายฝนฉํ่า ๆ พร้อมสัมผัสการดำนาแบบดั้งเดิมวิถีชีวิตของคนแม่ลาน้อย รวมคัดกาแฟพิเศษสายพันธุ์ดีของอำเภอแม่ลาน้อย ณ เฮินไต รีสอร์ท กับ “Mae La Noi Craft Camp 2023” งานดนตรีฤดูฝน พบกับผ้าทอขนแกะห้วยห้อม งานคราฟต์มีสไตล์ของชาวละว้า อาทิ เครื่องเงินบ้านละอูบ สร้อยทอลูกปัด กระเป๋าผ้าทอจากสีธรรมชาติ ปิดท้ายคํ่าคืนด้วยเบียร์คราฟต์จากวัตถุดิบพื้นถิ่น ชิลกับดนตรีสุดพิเศษ สไตล์โฟล์กแคมป์ ที่ช่วยฮีลใจท่ามกลางธรรมชาติและบรรยากาศดี ๆ กลางทุ่งนา.

อธิชา ชื่นใจ