รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในฐานะผู้สนับสนุนทุนวิจัยโครงการรถไฟไทยทำ หรือการผลิตรถไฟโดยสารต้นแบบ เปิดเผยว่า ได้ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าโครงการวิจัย และพัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบ (รถไฟไทยทำ) โดยนักวิจัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกับ กิจการร่วมค้า ไซโนเจน-ปิ่นเพชร จำกัด และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ บพข. คาดหวังให้ประสบความสำเร็จ เพราะคนไทยรอให้ประเทศไทยมีรถไฟที่ทันสมัยแบบนี้มานานแล้ว

รศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยจำนวนมากกลัวการทำวิจัย และการพัฒนา (R&D) เพราะต้องใช้เงินลงทุน และมีความเสี่ยง บพข. จึงต้องเข้ามาช่วยในส่วนนี้ ซึ่ง R&D คือสิ่งสำคัญต่อการสร้างองค์ความรู้ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ และประเทศไทย โครงการนี้นับเป็นตัวอย่างที่ดีว่าคนไทยสามารถทำได้ และเชื่อว่าองค์ความรู้ รวมถึงความสามารถของคนไทยไม่ได้ด้อยกว่าคนอื่น เพียงแค่เอกชนไทยทุกวันนี้ยังขาดโอกาส อย่างไรก็ตาม นักวิจัยเตรียมส่งมอบรถไฟไทยทำ เพื่อใช้ในกิจการของ รฟท. ประมาณเดือน ก.ย. 66

ด้าน รศ.ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า รถไฟไทยทำ ใช้ชื่อว่า “สุดขอบฟ้า (Beyond Horizon)” โดยโครงการนี้สามารถสร้างรถไฟโดยสารต้นแบบ พร้อมอุปกรณ์ที่สนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ (Local Content) มากกว่า 40% ของมูลค่าสินค้า กรณีรวมแคร่รถไฟ ตามนโยบาย Thai First ของรัฐบาล และหากคิดเฉพาะตู้รถโดยสารพร้อมอุปกรณ์ประกอบ ไม่รวมแคร่รถไฟจะมี local content สูงกว่า 70%

รศ.ดร.สมยศ กล่าวต่อว่า ได้ออกแบบตัวรถเองทั้งหมด โดยได้แรงบันดาลใจจากที่นั่งในเครื่องบินชั้นธุรกิจ และชั้นเฟิร์สคลาสในรถไฟความเร็วสูง ตัวต้นแบบนี้ทำที่นั่ง 25 ที่ ประกอบด้วยชั้น Super Luxury 8 ที่นั่ง และชั้น Luxury 17 ที่นั่ง ทุกที่นั่งมีจอภาพส่วนตัวสำหรับให้บริการด้านความบันเทิง และสั่งอาหาร ซึ่งจะมีพนักงานเสิร์ฟหุ่นยนต์นำอาหารมาส่งถึงที่นั่ง นอกจากนี้ยังมีระบบห้องน้ำสุญญากาศ และสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งทางขึ้นรถไฟที่ได้รับการออกแบบเพื่อรองรับการใช้งานของผู้พิการ ส่วนราคาค่าโดยสารนั้น คาดว่าจะใกล้เคียงกับตั๋วแบบนอนของ รฟท.

รศ.ดร.สมยศ กล่าวอีกว่า ผลงานที่ออกมานั้นมีความคุ้มค่ากว่าการนำเข้าจากต่างประเทศมาก นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาตัวรถให้มีน้ำหนักที่เบาลง จากการออกแบบด้วยระบบ Space Frame Modular Concept และแคร่รถไฟที่ทำความเร็วได้ถึง 120 กิโลเมตร (กม.) ต่อชั่วโมง (ชม.) ซึ่งได้มีการจดทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากโครงการแล้วกว่า 7 ผลงาน และโครงการนี้ยังมีผู้ประกอบการที่สามารถผลิต และประกอบชิ้นส่วนในประเทศมากกว่า 10 บริษัทเข้าร่วมโครงการ จึงเป็นการช่วยสร้างระบบนิเวศน์อุตสาหกรรมการผลิตรถขนส่งทางราง และสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมระบบรางตลอดห่วงโซ่การผลิต

รศ.ดร.สมยศ กล่าวด้วยว่า สำหรับเสียงสะท้อนว่ากรอบหน้าต่างมีขนาดใหญ่เทอะทะนั้น ได้ต้นแบบมาจากรถไฟความเร็วสูง กรอบหน้าต่างนั้นไม่ได้บดบังทัศนียภาพแต่อย่างใด ขณะที่ทางเดินนั้นมีความกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร เป็นมาตรฐานปกติ สามารถลากกระเป๋าผ่านได้ อย่างไรก็ตาม รถขบวนดังกล่าวเป็นรถต้นแบบ ที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดทั้งงบประมาณ และเวลา ซึ่งหากนำไปผลิตใช้จริง ในจำนวนมากๆ ก็สามารถนำไปปรับให้เหมาะสมต่อไปได้

ขณะที่นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่า รฟท. กล่าวว่า รฟท. ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการวิจัยนี้ตั้งแต่ต้น ได้เห็นตั้งแต่โครงสร้างแรก และเรื่องของความปลอดภัยในการให้บริการผู้โดยสาร ซึ่งเป็นสาระสำคัญ โดยผู้วิจัยได้ดำเนินการส่วนนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และขณะนี้อยู่ในขั้นของการทดสอบบนทางรถไฟจริง หากผ่านการทดสอบก็จะสามารถนำไปใช้จริงได้ สำหรับแผนการเดินรถในอนาคต ต้องมีการทำแผนการจัดจำนวนที่นั่ง และการจัดรูปแบบก่อนว่าจะเป็นอย่างไร เบื้องต้นอาจนำไปทดลองกับเส้นทางระยะกลางประมาณ 500 กม. ก่อน

นายอนันต์ กล่าวต่อว่า รถคันดังกล่าวออกแบบมาเป็นกึ่งรถนอน คือเป็นรถที่มีที่นั่งสบายๆ โดยเราต้องการทำรถไฟให้สามารถแข่งขันกับสายการบิน รวมถึงผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวได้ เพื่อดึงผู้โดยสารกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มใหม่ที่อาจไม่เคยใช้บริการรถไฟมาก่อน ได้หันมาใช้บริการรถไฟของ รฟท. เพื่อสร้างรายได้ให้กับ รฟท. เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้นก็สามารถนำรายได้นั้นไปพัฒนารถไฟชั้น 3 หรือตู้โดยสารแบบอื่นๆ มาให้บริการประชาชนได้มากขึ้น นอกจากนี้รถขบวนชุดนี้ยังมีจุดเด่น เป็นขบวนที่มีความเงียบ เนื่องจากไม่มีตัวเครื่องยนต์ปั่นไฟในตัวรถ สามารถนำต้นแบบนี้ไปปรับใช้ได้ อย่างไรก็ตามครั้งนี้เป็นครั้งแรก ที่สามารถประกอบตัวรถไฟที่มีชิ้นส่วนภายในประเทศได้

นายอนันต์ กล่าวด้วยว่า การพัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการพึ่งพาตนเอง ภายใต้ความร่วมมือของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยความสำเร็จของโครงการนี้คาดว่าจะสามารถช่วยให้ประเทศประหยัดค่าใช้จ่ายประมาณ 50% เมื่อเทียบกับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และยังช่วยยกระดับอุตสาหกรรมขนส่งทางรางของไทย ให้สามารถสร้างผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีสนองตอบต่อความต้องการของผู้ใช้งาน และมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยในระดับสากล

ด้านนายเมธัส เลิศเศรษฐการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กิจการร่วมค้า ไซโนเจน-ปิ่นเพชร จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็น ประเทศเมียนมา เวียดนาม และมาเลเซีย สามารถสร้างรถจักรเองได้แล้ว แต่ประเทศไทยยังต้องซื้อจากต่างประเทศอยู่ คิดเป็นงบประมาณกว่า 6,000 ล้านบาท ส่วนตัวมองว่าการซื้อเป็นเพียงค่าใช้จ่ายเริ่มต้น ยังมีค่าอะไหล่ ค่าซ่อมบำรุงตามมาอีก อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ได้ร่วมกันกับทีมวิจัยสร้างทุกชิ้นของตัวรถไฟ ทำให้เราสามารถที่จะซ่อมบำรุงเองได้ ส่งผลให้งบประมาณส่วนนี้ลดลง และยังช่วยเพิ่มพูนองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการได้อย่างมากมาย.