เมื่อวันที่ 29 ก.ค. เวลา 13.29 น. นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นประธานในพิธีอัญเชิญและสมโภชพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานไว้บนยอดเสา (Pylon) ของสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ใช้ทางพิเศษ (ด่วน) โดยมีสมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ อย่างไรก็ตาม สะพานแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ในสัญญาที่ 4 สะพานขึงคู่ขนานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา มีบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง ซึ่งขณะนี้ดำเนินการก่อสร้างสะพานฯ เสร็จแล้ว 100% 

ในโอกาสนี้นายชาตรี ตันศิริ รองผู้ว่าการฝ่ายก่อสร้างและบำรุงรักษา กทพ. เป็นผู้แทน กทพ. อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ขึ้นประดิษฐานไว้บนยอดเสา (Pylon) ของสะพานคู่ขนานสะพานพระราม โดยเสาต้นนี้สูงจากพื้นสะพานประมาณ 80 เมตร สำหรับการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุในครั้งนี้ ได้ใช้วิธีขึ้นลิฟต์ และต่อด้วยการปีนบันไดขึ้นไปอีก 12 เมตร 

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า กทพ. ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีพระเมตตาประทานพระบรมสารีริกธาตุให้ กทพ. อัญเชิญไปประดิษฐานบนยอดเสาสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ฝั่งกรุงเทพฯ ซึ่งสะพานดังกล่าวเป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เพื่อช่วยแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัดสะสม ลดปริมาณรถจากสะพานพระราม 9 เพื่อเดินทางไปยังอีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้อย่างสะดวกมากขึ้น

นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 อยู่ติดกับสะพานพระราม 9 ซึ่งเป็นสะพานขึงแห่งแรกของประเทศไทย ที่ก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 9 และได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ว่า “สะพานพระราม 9” เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 60 พรรษา โดยการก่อสร้างสะพานพระราม 9 นั้น กทพ. เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของทางด่วนสายเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) โดยบนยอดเสาขึงสะพานพระราม 9 มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่เช่นกัน โดยได้อัญเชิญขึ้นไปประดิษฐาน เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 30

นายสุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ได้ออกแบบไว้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับความสวยงามของสะพานพระราม 9 มีความสูงใกล้เคียงกัน ประมาณ 130 เมตร จากพื้นดินถึงยอดเสา สะพานแห่งนี้มีจุดเริ่มต้นบริเวณเชิงลาดสะพานพระราม 9 (ฝั่งธนบุรี) ก่อสร้างเป็นสะพานขึง ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาขนาด 8 ช่องจราจร 

เป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่มีความกว้างมากที่สุดในประเทศไทย 42 เมตร มีความยาวช่วงกลางสะพาน (Mid Span) 450 เมตร และมีความยาวสะพาน 780 เมตร ข้ามไปฝั่งกรุงเทพฯ และเชื่อมต่อกับทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร สิ้นสุดโครงการฯ ที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ โดยจะเชื่อมต่อกับทางด่วนเฉลิมมหานคร และทางด่วนศรีรัช ที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน ระยะทางรวมประมาณ 2 กิโลเมตร (กม.) เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ได้ประมาณเดือน มี.ค. 67

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า เมื่อเปิดให้บริการสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 จะสามารถรองรับปริมาณการจราจรได้วันละ 1.5 แสนคันต่อวัน ช่วยให้การเดินทางระหว่างพื้นที่ชั้นนอก และชั้นในของกรุงเทพฯ จากฝั่งตะวันออกไปฝั่งตะวันตก มุ่งสู่ภาคใต้ได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น รวมถึงยังช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรที่ติดขัดบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร ช่วงบริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ บนสะพานพระราม 9 ถึงด่านสุขสวัสดิ์ บริเวณถนนพระราม 2 จากปัจจุบันปริมาณความแออัดทางจราจร 100,470 คันต่อวัน ลดลงเหลือ 75,325 คันต่อวัน หรือลดลง 25% และสามารถเชื่อมต่อกับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว (M82) ของกรมทางหลวง (ทล.) ที่จะเปิดให้บริการในอนาคตได้ด้วย.