เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐสภานัดประชุมดำเนินการเพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ยกเลิกอำนาจวุฒิสภา หรือ สว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ตามพรรคก้าวไกลเป็นผู้เสนอ ภายหลังจากเมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา มติที่ประชุมรัฐสภาโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 โดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้คะแนนไม่ถึง 376 เสียง ทำให้ไม่ได้รับการเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้ลงคะแนนเห็นชอบ 234 เสียง ไม่เห็นด้วย 182 เสียง และงดออกเสียง 199 เสียง ซึ่งในส่วนของ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ส่วนใหญ่ ลงมติ งดออกเสียง-ไม่เห็นชอบ

จึงกลายเป็นที่มาให้พรรคก้าวไกลยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่ให้อำนาจวุฒิสมาชิกมีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี หรือเรียกว่าเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อคืนอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีให้กับประชาชน หรือ ปิดสวิตช์ สว.

กระทั่งเวลา 09.35 น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ในฐานประธานการประชุม ได้แจ้งว่า ขณะนี้มีสมาชิกมาร่วมประชุม 239 คน จากจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 747 คน ซึ่งยังไม่ถึงกึ่งหนึ่งของที่ประชุม จึงทำให้ไม่สามารถเปิดประชุมได้ แต่จะรอสมาชิกก่อน

ขณะที่ นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ไม่เชื่อว่าจะมีการจงใจทำให้การประชุมล่ม แต่อาจเป็นเพราะการปิดการจราจรบริเวณรัฐสภา มีการนำตู้คอนเทนนอร์มาปิดกั้นทางเข้า – ออกบริเวณรัฐสภา ขอให้รอสมาชิกมาร่วมประชุมก่อน จากนั้น สส.ก้าวไกลหลายคน อาทิ นายประเสริฐพงษ์ ศรสุวัตร์  สส.บัญชีรายชื่อ นายภัสริน รามวงศ์ สส.กทม. พากันช่วยเสริมถึงปัญหาการปิดจราจร และการนำตู้คอนเทนเนอร์ปิดกั้นทางจราจร ทำให้ประชาชนร้องเรียนจำนวนมากถึงขัดขวางการเดินทางประชาชน ขอให้เร่งนำตู้คอนเทนเนอร์ออกไปก่อน ทั้งนี้เมื่อเลยเวลาประชุมไป 30นาที ก็ยังไม่สามารถเปิดประชุมได้ องค์ประชุมยังขาดอีก 50 คน

ต่อมาเวลา 10.20 น. จึงมีองค์ประชุมครบ 374 คน และเมื่อเริ่มการประชุมได้ ปรากฏว่า นายรังสิมันต์  สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล  ได้เสนอญัตติด่วนทันที เพื่อขอให้รัฐสภาทบทวนมติที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ไม่ให้เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล  ซ้ำในการดำรงนายกรัฐมนตรี ภายหลังมีประเด็นร้องไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีผู้รับรองญัตติครบถ้วน  แต่นายวันมูหะมัดนอร์ บอกว่า ขอให้รอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 16ส.ค.นี้ก่อน ถ้าเดินหน้าต่อ อาจไปขัดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ควรเอาเรื่องนี้มาพูด แต่นายรังสิมันต์ ได้แย้งว่า การร้องไปยังศาล เป็นอำนาจผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่การเสนอญัตติของตนมีผู้รับรองถูกต้อง เมื่อเสนอญัตติถูกต้อง ก็ต้องพิจารณาญัตตินี้ก่อน ให้ที่ประชุมพิจารณาจะเปลี่ยนแปลงมติที่ดำเนินการไปแล้วหรือไม่ แต่นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวยืนยันว่า ให้รอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญก่อน เพราะเรื่องอยู่ในกระบวนการยุติธรรมของศาลต้องรอ

ขณะที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า  ญัตติที่นายรังสิมันต์ ได้เสนอไม่เกี่ยวกับการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีและการเสนอญัตตินี้เป็นประโยชน์แก้ปัญหาความคลุมเครือที่เกิดขึ้น  ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ญัตติที่เสนอนี้ดำเนินการถูกต้อง เมื่อยังมีข้อสงสัย สภาฯต้องวินิจฉัย ไม่ใช่เรื่องเสียหาย มติสภาที่เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่จะไปกลบได้คือ มติสภาที่ใหญ่กว่า

นายรังสิมันต์   ส.ส.บัญชีรายชื่อ  พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในความเป็นมนุษย์อาจมีการกระทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง แต่ไม่ได้มีผลผูกพันจะเป็นความเด็ดขาดตลอดไป สมควรที่รัฐสภาจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ อย่างไรก็ตามนายวันมูหะมัดนอร์ พยายามเดินหน้าเข้าสู่วาระประชุมตามปกติต่อไป แต่นายรังสิมันต์ ก็ไม่ยอม ทำให้เกิดการถกเถียงกันในที่ประชุม โดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว  ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในกระบวนการประชุมรัฐสภา เข้าสู่วาระประชุม แต่มีผู้เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา มีกระบวนการเสนอญัตติชอบด้วยข้อบังคับ ประธานฯไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่าจะรับหรือไม่รับพิจารณาญัตติด่วน ขั้นตอนต่อไป สภาฯต้องพิจารณาจะให้ความเห็นชอบญัตติด่วนหรือไม่ ทำให้นายสมชาย แสวงการ สว.กล่าวว่า การเสนอญัตติด่วนใหม่ให้ทบทวนมติที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 19ก.ค.นั้น เห็นว่าเป็นญัตติไม่ชอบ จึงขอเสนอญัตติคัดค้านญัตติของนายรังสิมันต์  ซึ่งปรากฎว่ามีผู้รับรองญัตติครบถ้วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม นายวันมูหะมัดนอร์  ได้พยายามวินิจฉัยตัดสินไม่ให้มีการเสนอญัตติด่วนใด ๆ แทรกเข้ามา และขอให้เดินหน้าประชุมตามวาระปกติ ก่อนที่สมาชิกรัฐสภาจะอภิปรายถกเถียงกันระหว่าง สส.ก้าวไกล กับ สว.เสียเวลานานกว่า 30 นาที

โดยนายนายรังสิมันต์  อภิปรายตอกย้ำการเสนอญัตติให้ทบทวนมติที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 19ก.ค.มีความถูกต้องตามข้อบังคับ ควรเดินหน้าพิจารณาญัตตินี้ อาจจะไม่ต้องใช้เวลาพิจารณายาว จะยืนยันตามมติเดิมหรือเปลี่ยนมติใหม่ให้เป็นอำนาจของรัฐสภา ขณะที่นายประพันธุ์ คูณมี สว. อภิปรายว่า การเสนอญัตติเพื่อลบล้างมติรัฐสภานั้น ทำไม่ได้  ไม่ควรรับญัตติทบทวน เพราะเป็นญัตติไม่ชอบ หากรับจะถือว่า รัฐสภากระทำผิด ไม่สมควร กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่เหตุเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับพิจารณา

จนในที่สุดนายวันมูหะมัดนอร์  กล่าวว่า “ขอใช้อำนาจประธานรัฐสภาวินิจฉัย ให้เลื่อนการประชุมรัฐสภาในวันนี้” และสั่งปิดการประชุมทันที ในเวลา 11.27 น. โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงของ สส. ที่ขออภิปรายต่อ