เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่สโมสรตำรวจ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เปิดเผยความคืบหน้ากรณีเหตุโกดังพลุระเบิดในพื้นที่ชุมชนบ้านมูโนะ จ.นราธิวาส จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย ว่า นายสมปอง ณ พล หรือ ‘เสี่ยไหว’ พร้อมด้วย นางสาวปิยะนุช พึ่งวิรวัฒน์ หรือ ‘เจ๊หลิน’ สองสามีภรรยาเจ้าของโกดังเก็บพลุที่ระเบิด ได้ประสานมากับตนเพื่อขอมอบตัวเนื่องจากเกรงว่าถ้ามามอบตัวเองจะถูกประชาทัณฑ์ ตนจึงได้ประสานตำรวจมาเลเซียควบคุมตัวมาส่งให้ทางการไทยบริเวณด่านพรมแดนไทยสะเดา จ.สงขลา โดยมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานฝ่ายความมั่นคงที่เกี่ยวข้องทั้งตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ตม. และตำรวจสภ.มูโนะ เดินทางไปรอรับมอบตัวก่อนควบคุมตัวทั้งสองคนไปบันทึกการจับกุมและทำทะเบียนประวัติตามขั้นตอนของผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับ

หลังจากมีการบันทึกจับกุม เจ้าหน้าที่จึงแจ้ง 4 ข้อหา คือ 1.ข้อหากระทำโดยประมาทและกระทำการนั้นเป็นให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, ได้รับอันตรายสาหัส, และได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ 2.ร่วมกันทำ สั่ง นำเข้าหรือค้าซึ่งดอกไม้เพลิงโดยไม่ได้รับอนุญาต 3.ร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 4.ร่วมกันก่อสร้างดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต

จากการสอบปากคำทั้งสองคนให้การเป็นประโยชน์ต่อคดี โดยรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ว่าซื้อสินค้ามาจากประเทศจีน มีการขนส่งอย่างไร ขนย้ายอย่างไรข้ามด่านด้วยวิธีไหน ซึ่งจากการสอบถามผู้บังคับการจังหวัดนราธิวาส ได้รับรายงานว่า การให้ปากคำของผู้ต้องหาทั้งสองคนเป็นประโยชน์อย่างมาก ส่วนกรณีการสอบสวนขยายผลดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทุจริตต่อหน้าที่ หลังสังคมเกิดความสงสัยและติดใจในจำนวนของว่าทำไมจึงมีปริมาณมากขนาดนี้ ซึ่งจากการสืบสวนพบว่าในที่เกิดเหตุมีพลุมากถึง 400-500 กิโลกรัม ทั้งที่มีหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องดูแลถึง 5-6 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณะสุข

ซึ่งจากนี้ไปต้องไล่ตรวจสอบตั้งแต่ต้นทาง ตั้งแต่ขั้นตอนของการนำเข้าว่าได้สำแดงการนำเข้าถูกต้องหรือไม่ มีการจดแจ้งจำนวนที่นำเข้ามาถูกต้องหรือไม่ ขั้นตอนการขนส่งมีวิธีการขนส่งอย่างไร มีการอนุญาตจากขนส่งหรือไม่ เช่นการขนย้ายจากแหลมฉบังไปโรงงานที่บางกล่ำที่จ.สงขลา หรือขนย้ายจากบางกล่ำไปที่จ.นราธิวาส ซึ่งเชื่อว่าขั้นตอนการขนย้ายไม่ถูกต้อง แม้แต่โกดังที่เกิดเหตุมีการขออนุญาตเป็นสถานประกอบการแต่ในใบอนุญาตไม่ได้ระบุว่าเป็นการประกอบการอะไร

ดังนั้นเจ้าหน้าที่ทั้ง 5 หน่วยงาน จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ จะอ้างว่าไม่มีคนแจ้งจึงไม่ทราบไม่ได้ เพราะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำการดูแลจึงต้องทำการตรวจสอบ ว่าสถานประกอบการดังกล่าวดำเนินการถูกต้องตามกฏหมายหรือไม่ ส่วนกรณีที่ผู้ต้องหาที่หลายคนสงสัยว่าที่ผู้ต้องหาติดต่อขอมอบตัวอาจมีการตกลงเงื่อนไขกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเรื่องการขอประกันตัวนั้น รองผบ.ตร. ยืนยันว่า ไม่มีเงื่อนไขดังกล่าวอยู่ในเงื่อนไขการประกันตัวแต่อย่างใด