นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงพาณิชย์ และนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ภายใต้กรอบการประชุมสุดยอดการค้าและการลงทุนจีน-อาเซียน ครั้งที่ 18 และการประชุมวาระพิเศษครบรอบ 30 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์คู่เจรจาอาเซียน-จีน  เมื่อวันที่ 10 ก.ย. ณ นครหนานหนิง ในหัวข้อ “สายสัมพันธ์ 30 ปีจีน-อาเซียน จับมือก้าวสู่ศักราชใหม่ไปด้วยกัน”

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ปีนี้เป็นวาระครบรอบ 30  ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์คู่เจรจาอาเซียน-จีน ซึ่งตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอาเซียนรวมทั้งประเทศไทยได้พัฒนารุดหน้าและดำเนินไปอย่างแน่นแฟ้น ขณะเดียวกัน จีนและอาเซียนยังได้ร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งในการต่อสู้และป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตลอดจนส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จนถือเป็นต้นแบบความร่วมมือระหว่างประเทศ  ขอให้จีนและอาเซียนได้จับมือกันก้าวไปข้างหน้าและเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ให้สูงขึ้นไปอีก

นายจุรินทร์ยังกล่าวอีกว่า “ในวาระครบรอบ 100 ปี แห่งการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปีนี้ ทางรัฐบาลไทยขอแสดงความยินดีและชื่นชมรัฐบาลจีนที่ได้พัฒนาประเทศ ทำให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดีกันอย่างถ้วนหน้า ขณะที่การเปิดกว้างสู่ต่างประเทศภายใต้ “นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ที่เอื้อต่อนโยบายเปิดกว้างสู่ตลาดต่างประเทศ ทำให้เราได้มีติดต่อค้าขายระหว่างกัน ไม่เพียงกับประเทศสมาชิกอาเซียน แต่ยังรวมถึงประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ  ซึ่งก่อให้เกิดความเชื่อมโยงทั้งด้านเศรษฐกิจ การพัฒนา และการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน” 

“ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับบทบาทของระบบการค้าพหุภาคีในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกเช่นเดียวกันกับจีน และการที่ไทยได้เข้าร่วมลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) สะท้อนให้เห็นว่าไทยสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่เปิดกว้าง ครอบคลุม ทันสมัย ต่างฝ่ายต่างได้รับผลประโยชน์ร่วมกันและยึดตามกฎเกณฑ์ ด้วยเหตุนี้ไทยและจีนจึงควรดำรงไว้ซึ่งความร่วมมืออย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งร่วมมือกับประเทศสมาชิก RCEP เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคที่เปิดกว้าง โปร่งใส ยุติธรรม และมีเสถียรภาพ” นายจุรินทร์กล่าวทิ้งท้าย

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” (RCEP) ได้กลายเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน แต่ข้อตกลงการค้าเสรีเพียงอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอ เราต้องยกระดับการค้าผ่านการเชื่อมต่อภาคกลางและภาคตะวันตกของจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก และผ่านระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงถึงกัน เพื่อรองรับการขยายตัวและเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการค้า

นายสุพันธุ์กล่าวว่า การประชุมสุดยอดฯ ครั้งที่ 18 ภายใต้หัวข้อ “ร่วมแบ่งปันโอกาสของระเบียงการค้าระหว่างประเทศทางบก-ทางทะเลแห่งใหม่ สร้างประชาคมแห่งโชคชะตาร่วมกันระหว่างจีน-อาเซียน” มุ่งมั่นที่จะเพิ่มขีดความสามารถของเส้นทางขนส่งเชื่อมทางบก-ทะเลสายใหม่ สามารถประหยัดเวลาและลดต้นทุนในการขนส่ง  ส่งเสริมการพัฒนาของประเทศและภูมิภาคที่อยู่บนเส้นทางดังกล่าว และไทยยังสามารถส่งออกผลไม้ไปยังจีนได้มากขึ้นโดยผ่าน Fruit Express   

ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกรกฎาคมที่ผ่านมา ไทยสามารถทำรายได้จากการส่งออกผลไม้ไปจีนได้ถึง 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในอนาคตข้างหน้าเส้นทางขนส่งเชื่อมทางบก-ทะเลสายใหม่จะทำให้ปริมาณการค้านี้เพิ่มมากขึ้น ประเทศในอาเซียนยังสามารถขายสินค้าสู่ตลาดจีนได้มากขึ้นโดยผ่านช่องทางดังกล่าว

ในงานฟอรั่ม แขกรับเชิญได้ร่วมจัดเสวนาพิเศษและอภิปรายในหัวข้อต่าง ๆ เช่น  “RCEP กับการนำไปสู่การเติบโตในอนาคต”, “ร่วมกันสร้างเส้นทางขนส่งเชื่อมทางบก-ทะเลสายใหม่ ส่งเสริมโอกาสใหม่ ๆ ในการเปิดกว้างความร่วมมือ”, “ส่งเสริมการเปิดกว้างทางการเงินและนวัตกรรม”, “สำรวจแรงผลักดันใหม่เพื่อประโยชน์ร่วมกัน” เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ประกาศ “แนวคิดริเริ่มความร่วมมือของประชาคมธุรกิจจีน-อาเซียนว่าด้วยการให้คำปรึกษาร่วมกัน การมีส่วนร่วม และการแบ่งปันผลประโยชน์ของระเบียงการค้าระหว่างประเทศทางบก-ทางทะเลแห่งใหม่” พร้อมทั้งจัดพิธีเปิดการส่งเสริมความร่วมมือทางดิจิทัลของห่วงโซ่อุปทานข้ามพรมแดนของเส้นทางขนส่งเชื่อมทางบก-ทะเลสายใหม่ขึ้นอีกด้วย 

นับตั้งแต่ปี 2553 ฟอรั่มผู้นำธุรกิจจีน-อาเซียน ภายใต้กรอบการประชุมสุดยอดการค้าและการลงทุนจีน-อาเซียน ได้ขยายโอกาสใหม่ ๆ ในการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีน-อาเซียน เสริมสร้างการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแบ่งปันความสำเร็จของความร่วมมือพหุภาคีอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ได้แสดงให้รัฐบาลและประชาคมธุรกิจของประเทศต่าง ๆ ได้เห็นถึงผลประโยชน์มหาศาลที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ (win-win)