หลังหน่วยงานมันสมองของประเทศอย่าง “สภาพัฒน์”  ได้ออกมาหั่นตัวเลขเศรษฐกิจเหลือเพียง 2.5-3% โดยทีมข่าวเศรษฐกิจ เดลินิวส์ จึงขอรวบรวมภาระงานเร่งด่วนที่รอ รมต.คนใหม่เข้ามาสะสาง

เร่งงบปี 67-แก้วินัยการคลัง

เริ่มจาก กระทรวงการคลัง หัวเรือใหญ่ในการคุมรายรับรายจ่ายของประเทศ ภารกิจแรกต้องเข้ามาเร่งสะสาง การจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 67 โดยด่วนที่สุด หลังจากคาดจะล่าช้าไป 8 เดือน พร้อมเดินหน้าทำงบปี 68 คู่ขนานไปด้วย เพื่อให้กดปุ่มให้เงินจากภาครัฐไหลเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นปกติโดยเร็ว  ล่าสุด ครม.อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณใช้ไปพลางก่อน 8 เดือน ไม่เกิน 1.8 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเริ่มอนุมัติงบประมาณ 1 ต.ค. 66  รวมทั้งการสางภาระหนี้ภาครัฐก้อนโตจนพังเพดานวินัยการเงินการคลังไปถึง 2 ครั้ง ทั้งปัญหาหนี้สาธารณะที่พุ่งไป 61.26% ของจีดีพี  เพดานก่อหนี้ภาครัฐ มาตรา 28 ที่ขยายจาก 30% เป็น 35% ที่สำคัญต้องจัดระเบียบ สวัสดิการให้ลดความซ้ำซ้อน หลังที่ผ่านมา หว่านเงิน แบบไร้ประสิทธิภาพ ตลอดจนการตัดสินใจแก้ปมภาษี เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะต่ออายุลดต่อหรือปล่อยให้ขึ้นเป็น 10%

เคลียร์เรื่องหวยโผโยกย้าย

นอกจากนี้ยังมีเรื่องใกล้ตัวคนไทย อย่าง การออกสลากใหม่ ทั้งสลากเลข 3 หลัก หรือเอ็น 3 และลอตเตอรี่ 6 หรือแอล 6 ที่แม้กฎหมายจะผ่าน ครม.ไปแล้ว แต่ยังต้องรอดูสำนักงานสลากฯ จะออกสลากทั้ง 2 ประเภท มาอย่างไร  เท่าไร และออกมาตอนไหน เพราะตรงนี้เป็นกุญแจสำคัญในการช่วยหาเงินเข้าคลังได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องแลกกับการต่อต้านจากวงการหวยใต้ดิน นายทุนสลาก อีกเรื่องที่ขุนคลังคนใหม่ต้องจัดการ คือ จัดตั้งโผโยกย้ายข้าราชการครั้งใหญ่ โดยรอบนี้ต้องเฟ้นหาปลัดคนใหม่มาแทนที่ กฤษฎา จีนะวิจารณะ ที่กำลังจะเกษียณสิ้นเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งทำให้เกิดอาฟเตอร์ช็อกไปยังข้าราชการระดับ 10 และอธิบดีอีกหลายตำแหน่ง อีกทั้งต้องรอดูการแต่งตั้งเอ็มดี ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่ว่างลง

วัดใจอนาคตรถยนต์ไฟฟ้า

อีกเรื่อง…ที่น่าสนใจซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง กระทรวงการคลัง กับกระทรวงอุตสาหกรรม คือ มาตรการการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม รอดูว่ารัฐบาลใหม่จะเอาไงต่อ เพราะรัฐบาลที่แล้วเริ่มต้นด้วยแพ็กเกจภาษี รวมถึงเงินอุดหนุนส่วนลดสูงสุดถึงคันละ 1.5 แสนบาท แต่มาวันนี้ งบก้อนเดิมที่ได้รับจัดสรร 3 พันล้านกำลังจะหมดลง ต้องดูกันว่ารัฐบาลจะหาเงินจากไหน? มาใช้ต่อ หรือออกมาตรการอื่นมาสนับสนุนดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนผลิตในไทยเพิ่มหรือไม่  โดยเฉพาะเรื่องภาษีแบตเตอรี่ ที่สรรพสามิตตั้งเรื่องไว้แล้ว รอเพียงรัฐบาลจะเยส หรือโน ขณะที่กระทรวงอุตฯ ต้องทำแผนผลักดันมาตรการยานยนต์ไฟฟ้ารอบใหม่ หรืออีวี 3.5 ซึ่งมีทั้งการขยายเวลา ปรับปรุงเงื่อนไข เงินสนับสนุน พร้อมกับแผนเดินหน้าสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ เพื่อให้ไทยเป็นผู้นำและเป็นศูนย์กลางการทดสอบ และรับรองในภูมิภาคอาเซียน

น้ำมันแพงค่าไฟพุ่ง 

ข้ามมาโจทย์ร้อน กระทรวงพลังงานต้องเร่งแก้ปัญหาค่าครองชีพ โดยเฉพาะการดูแลราคาพลังงานที่ยังผันผวนและพุ่งสูง ทั้งราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซแอลพีจี  พร้อมเร่งสางหนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ยังติดลบตัวแดงหลายหมื่นล้านบาท ตลอดจนแผนดูแลค่าไฟฟ้าที่ประเทศไทยยังสูงกว่าเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเวียดนามที่ราคาประมาณหน่วยละ 2.80 บาท ขณะที่ราคาค่าไฟของไทยงวดล่าสุดอยู่ที่หน่วยละ 4.45 บาท จนทำให้ประชาชนร้องโอดโอย รวมทั้งภาคอุตสาหกรรม ต้องสูญเสียขีดความสามารถการแข่งขันคู่แข่ง    

นอกจากนี้ต้องดูแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2566-2580 หรือพีดีพี 2023 ที่ปรับแล้วปรับอีก แต่ก็ยังไม่แล้วเสร็จ รวมทั้งปัญหาการแต่งตั้งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. คนใหม่ แทน “บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร” ที่ได้หมดวาระไปแล้ว จนต้องแต่งตั้งรักษาการขึ้นมาแทน จากที่ผ่านมาบอร์ด กฟผ. ได้คัดเลือก “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ปฏิบัติงานกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้า เป็นผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 ตั้งแต่เดือน มี.ค. ที่ผ่านมาแล้ว

ส่งออกโคม่าค่าครองชีพแพง

ถัดมาไปที่กระทรวงพาณิชย์มีภารกิจสำคัญ 2 ฟาก นอกประเทศอย่างการส่งออกที่กำลังร่อแร่ ติดลบ 7 เดือนติด แถมหลายหน่วยงานก็ฟันธงปีนี้ไม่รอดแหง ซึ่ง รมว.พาณิชย์ คนใหม่จะต้องเข้ามาแก้ไขสถานการณ์ ทำอย่างไรให้ส่งออกดีกว่าเดิม เพราะอย่างที่รู้ ๆ กันว่า ตัวเลขการส่งออกมีสัดส่วนถึง 60-70% ของจีดีพี  หากฟื้นได้ จีดีพีก็คงแล่นฉิว หากติดลบแบบกู่ไม่กลับ ก็เสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะดิ่งเหวตามด้วย ขณะที่งานในประเทศ ต้องเข้ามาขจัดปัญหาของแพง ค่าครองชีพโหด เพราะหลังจากสิ้นสุดโควิดมา สินค้าสำคัญหลายรายการก็พาเหรดขึ้นราคาอย่างหนักหน่วง  ขณะที่กระทรวงพาณิชย์เองก็ไม่สามารถดึงราคาลงมาได้ โดยเฉพาะไข่ไก่ ที่วันนี้ราคาทะลุฟองละ 4- 5 บาทไปแล้ว ถือว่าแพงสุดเป็นประวัติการณ์ทีเดียว แถมยังมีเรื่องของอาหารจานด่วน อาหารตามสั่งที่แพงลิบลิ่ว ทั้งที่ต้นทุนหลายด้านได้ปรับลดราคาลงมาแล้ว โดยเฉพาะราคาเนื้อหมูที่ปรับลดลงแล้ว แต่ราคาอาหารจานด่วนยังไม่ลดราคา

ท่องเที่ยวรายได้หลุดเป้า

หันมาดูภาคการท่องเที่ยว ความหวังหนึ่งเดียวของไทย ซึ่งต้องบอกว่าผิดฟอร์ม โดยเฉพาะตลาดความหวังอย่างจีน ถึงตอนนี้หลุดเป้าหมายไปแล้วกว่า 1 ล้านคน หลังจีนเองเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจภายใน อีกทั้งไทยก็มีข้อจำกัด เรื่องการทำวีซ่าที่ยุ่งยาก ล่าช้า และไฟลต์เที่ยวบินมีจำกัด ทำให้คาดว่า แม้ทั้งปีนักท่องเที่ยวต่างชาติจะไม่น้อยกว่าเป้า 28 ล้านคน แต่รายได้น่าจะหล่นวูบไปกว่า 2 แสนล้านบาท เหลือแค่ 1.03 ล้านล้านบาท ดังนั้น รมว.การท่องเที่ยวคนใหม่จึงมีการบ้านหนักอึ้ง ที่จะหาทางเข็นการท่องเที่ยวให้ถึงฝั่ง

ดีอีเอสแก้โจรออนไลน์

ขณะที่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส งานเร่งด่วนที่รอ รมต.คนใหม่ มาแก้ปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ ที่ช่วง 1 ปี มีการแจ้งความออนไลน์สูงถึง 3 แสนคดี แม้มี พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ที่เริ่มใช้แล้ว  แต่ดูเหมือนว่า โจรออนไลน์ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ก็ยังเหิมเกริมไม่เลิก ล่าสุด…ยังรับน้องรัฐบาล โดยนำนโยบายแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาทไปทำแอปปลอมอีกต่างหาก หรือจะเป็นเรื่องของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือเอ็นที ที่ควบรวมเสร็จมา 2 ปีกว่าแล้ว แต่การทำงานยังไม่เข้าที่ ที่สำคัญการเดินหน้าธุรกิจมือถือ 5 จี ที่ประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ เมื่อปี 63 ด้วยเงินสูงถึง 3.6 หมื่นล้านบาท แต่วันนี้ยังกอดคลื่นไว้เฉย ๆ   

ระเบิดเวลาสารพัดหนี้

ข้ามมาดูฟากการเงินกับปัญหาสารพัดหนี้ที่รอรัฐบาลชุดใหม่เร่งจัดการ โดยเฉพาะ เรื่องหนี้ครัวเรือน ที่ปัจจุบันพุ่งสูงระดับ
90.6% ของจีดีพี แม้ที่ผ่านมาหลายรัฐบาลจะแก้ไข แต่ก็ยังไม่สำเร็จ เพราะมีหนี้หลายประเภท หลายกลุ่ม และเป็นหนี้หมักหมมมานาน  ซึ่งแม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะพยายามแก้แล้ว ด้วยการให้สถาบันการเงินปล่อยกู้อย่างรับผิดชอบ คือก่อนจะปล่อยสินเชื่อออกไปก็ต้องคิดพิจารณาให้ดี บอกข้อมูลให้ครบถ้วน คิดดอกเบี้ยอย่างเป็นธรรม รวมถึงการแก้ปัญหาหนี้กลุ่มเรื้อรังที่คั่งค้างมานับ 5 ปี ด้วยการคิดดอกเบี้ยต่ำเหลือ 15% ต่อปี  แต่การทำสำเร็จ ดูแล้วก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องหนี้นอกระบบ ที่เหมือนเป็นหลุมดำ ไม่มีข้อมูลระบุชัดว่าใครมีหนี้นอกระบบเท่าไร และก็ไม่รู้ว่าคนที่มีหนี้ในระบบ ได้มีหนี้นอกระบบอีกหรือเปล่า ซึ่งรัฐบาลชุดใหม่ ต้องโฟกัสให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยมีแนวทางแก้หนี้ครัวเรือนได้ทั้งในระบบ และนอกระบบควบคู่กัน ลำพังแค่พิโกไฟแนนซ์อาจจะยังไม่พอ  เพราะคนค้างจ่ายหนี้เสียล้นทะลักอยู่ทุกวัน

ฟื้นเชื่อมั่นหุ้นลุ้นเก็บภาษี

ไปต่อที่ตลาดหุ้น ภาคเอกชนส่งสัญญาณขอเข้าคุยรัฐบาลด่วน เพื่อสังคายนาตลาดหุ้นยกใหญ่ ทั้งด้านกฎเกณฑ์ กฎหมายต่าง ๆ ที่อยากจะแก้ไขให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล ให้สะดวก รวดเร็ว รวมถึงการแก้ปัญหาด้านความเชื่อมั่นในตลาดทุน หลังเกิดกรณีหุ้นสตาร์ค หุ้นมอร์ ที่ต้องแก้ไข เพื่อเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมาโดยด่วน ขณะที่บรรดาบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) ก็ต้องการเสนอกองทุนใหม่ ให้รัฐบาลพิจารณาเพื่อตอบโจทย์การออมของคนไทย หลังจากกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (เอสเอสเอฟ) จะหมดอายุลงในปีนี้ ซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุงให้กองทุนเอสเอสเอฟมีความน่าสนใจมากขึ้น  โดนใจนักลงทุนมากกว่าเดิม

ที่สำคัญต้องดู “การเก็บภาษีการขายหุ้น” ที่สะดุดจากรัฐบาลที่แล้ว จะเดินหน้าต่อไปทางไหน หลังภาคเอกชนค้านหัวชนฝามาตลอด ตลาดหุ้นไทยยังไม่เหมาะที่จะเก็บภาษี เพราะกำลังผันผวนหนัก หากเก็บภาษีอีกอาจทำให้ต่างชาติเทขายหนักกว่าเดิม ซึ่งประเมินกันว่า หากเก็บภาษีขายหุ้นจริง จะทำให้มูลค่าการซื้อขายหุ้นไทยหดตัว 30-40% จึงต้องวัดใจรัฐบาลใหม่ว่าจะตัดสินใจแบบไหนระหว่างรายได้เงินภาษีมาปะตูดรัฐบาล หรือซื้อเวลาประคองความเชื่อมั่นจากนักลงทุนไปก่อน ในช่วงที่มีความไม่แน่นอน

ค้าปลีกปลอดภาษีใน 5 ปี

ฟากด้านการค้าเอกชน อย่าง สมาคมค้าส่งค้าปลีก อยากเสนอให้รัฐบาลใหม่ศึกษามาตรการเรื่องการแข่งขันด้านสิทธิทางภาษีให้ร้านโชห่วยขนาดเล็กสามารถเข้าสู่ระบบภาษีได้อย่างเต็มตัว อาทิ เปิดแคมเปญค้าปลีกปลอดภาษี 5 ปี โดยให้สิทธิสำหรับร้านโชห่วยที่เปิดใหม่ ได้ยกเว้นการจ่ายภาษี 3-5 ปี เพื่อให้ร้านค้าสามารถตั้งตัวได้แล้วเก็บภาษีภายหลัง ซึ่งจะทำให้มีคนอยากเข้าสู่ระบบการค้ามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยหลังเกษียณ เพื่อสร้างแรงใจให้คนสูงอายุทำกิจการเล็ก ๆ ไม่ต้องเป็นภาระของลูกหลาน 

ขณะที่ ภาคอสังหาริมทรัพย์ อยากให้นายกฯ เศรษฐาที่เคยอยู่ในภาคธุรกิจนี้มาก่อน ช่วยดูแลภาคอสังหาฯ ไทยเป็นการด่วน เช่น เสนอให้ต่างชาติเข้าซื้ออสังหาฯ ไทยได้ ทั้งบ้าน ทาวน์เฮาส์ แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานรัฐ เพราะปัจจุบันมีการซื้อแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ ผ่านนอมินีแทน เชื่อว่าหากทำสำเร็จจะช่วยให้เงินหมุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มอีก 6 เท่าตัว  นอกจากนี้ยังอยากเห็นรัฐบาลใหม่ช่วยผ่อนปรนมาตรการแอลทีวี รวมถึงต่ออายุมาตรการด้านการลดค่าโอน ค่าจดจำนอง ที่จะสิ้นสุดในปีนี้ออกไปด้วย

งานเหล่านี้…ถือเป็นงานเฉพาะหน้าที่บรรดาแต่ละหน่วยงานกำลังรอบรรดารัฐมนตรีใหม่เข้ามาบริหารจัดการ ซึ่งต้องบอกว่า…นี่!! เป็นแค่ออร์เดิร์ฟน้ำจิ้มเท่านั้น!! ของจริงยังมีปัญหาซุกไว้ใต้พรมอีกมากที่รอให้สะสาง ให้เคลียร์โดยด่วน เพราะเวลานี้เรื่องของเศรษฐกิจไทย ต้องบอกว่า…รออีกไม่ไหวแล้ว!!

โจทย์หินผลงาน 100 วันแรก

สนั่น อังอุบลกุลประธานกรรมการหอการค้า ไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  ระบุว่า ประเด็นเร่งด่วนที่หอการค้าฯ ต้องการส่งสัญญาณถึงรัฐบาลใหม่เพื่อให้เร่งดำเนินการทันทีในช่วง 100 วันแรกของการรับตำแหน่ง ได้แก่  การแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชน และลดต้นทุนภาคเอกชนทั้งค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ที่ยังอยู่ในระดับสูงและปัญหาที่กระทบต่อการแข่งขันและการส่งออกของไทย รวมทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ได้เร่งเสริมความโดดเด่นภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายและถือเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยว โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกเรื่องการทำวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวจีนให้รวดเร็ว และการเพิ่มเที่ยวบินรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น, เร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่ยังค้างท่ออยู่ และจัดทำงบประมาณรายจ่าย 2567 ให้เกิดความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนแผนงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตลอดจนเร่งสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน เพื่อดึงดูดเงินลงทุนใหม่ ๆ จากต่างชาติ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจ้างงาน และเป็นผลดีต่อตัวเลขการส่งออกในอนาคต หอการค้าฯ ได้มีการหารือกับคณะกรรมการและสมาชิกถึง 3 ประเด็นข้างต้น เพื่อนำเสนอรัฐบาลชุดใหม่พิจารณาดำเนินการทันที เพราะต้องยอมรับว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะซึมตัวต่อเนื่อง จึงจำเป็นที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ให้เติบโตเพิ่มมากขึ้น

ขอทีมเศรษฐกิจเก่งดีไม่ยี้

“เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) บอกว่า สิ่งที่ต้องการเห็นในระยะต่อไป คือ ทีม ครม.เศรษฐกิจ ที่ทั้งดี เก่ง มีประสบการณ์ มีฝีมือ ไม่ใช่เปิดตัวมาแล้ว ได้แต่พูดไม่ออก โดยเฉพาะในกระทรวงเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ เนื่องจากเวลานี้ประเทศมีปัจจัยเสี่ยงที่ท้าทายจำนวนมาก หากได้ทีมเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง จะช่วยเรียกความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และนักลงทุนได้ ขณะเดียวกันการจัดตั้งรัฐบาลร่วมที่มีหลายพรรคนั้น จะต้องมียุทธศาสตร์และการทำงานร่วมกัน เพราะทุกกระทรวงล้วนทำงานสอดคล้องกัน การทำงานจะเป็นคนละทางไม่ได้

สำหรับสิ่งที่อยากฝากรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาดำเนินการนั้น นอกเหนือจากโฉมหน้าของรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจแล้ว สิ่งสำคัญระยะต่อไป คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการช่วยเหลือภาคเอสเอ็มอี ที่ประสบปัญหาต้นทุนทางการผลิต รวมถึงต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ยังมีเรื่องของต้นทุนด้านพลังงาน ค่าไฟ เป็นต้น ขณะที่สิ่งที่กังวลอีกเรื่องและรัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญในการเร่งดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง คือ ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และเป็นระเบิดเวลาในการฉุดรั้งเศรษฐกิจ, เรื่องการส่งออก ที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญ โดยการแสวงหาตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพเข้ามาทดแทนตลาดเดิม รวมถึงสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกด้วย และสุดท้ายปัญหาภัยแล้ง จากสถานการณ์เอลนีโญ ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรมของไทยอีกด้วย 

เอสเอ็มอีชง 5 ประเด็น

“แสงชัย ธีรกุลวาณิช” ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย มองว่า อยากให้รัฐบาลเร่งลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและการศึกษา เพิ่มโอกาสเข้าถึงมาตรการดี ๆ ที่เป็นประโยชน์ของภาครัฐ มองใน 5 ประเด็นสำคัญ เช่น การฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ทั้งการขยายสัดส่วนจีดีพี เอสเอ็มอี  ที่ลงลึกถึงสัดส่วนจีดีพี ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีเพียง 3% ของจีดีพี ทั้งประเทศ แต่มีสัดส่วนผู้ประกอบการรายย่อยถึง 85% ประมาณ 2.7 ล้านราย จ้างงานกว่า 5 ล้านคน โดยนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจขับเคลื่อนประเทศต้องมีแผนและการสื่อสารสร้างความเข้าใจ สร้างการมีส่วนร่วมกับภาคเอกชนอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำ และการแก้ปัญหาคุณภาพหนี้ครัวเรือน หนี้เสีย และหนี้นอกระบบ ที่ทวีความรุนแรงมาเป็นลำดับ โดยสิ่งที่ต้องมีการทบทวน เช่น การจัดชั้นเอ็นพีแอลทั่วไปและรหัส 21 ควรกำหนดวงเงินหนี้ จัดประเภทขนาดธุรกิจ เพื่อให้เหมาะสมกับการบริหารจัดการให้คำปรึกษาแนะนำช่วยเหลือ ขณะที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ต้องแก้ไขปัญหาดอกเบี้ยที่เป็นธรรมกับเอสเอ็มอี โดยเฉพาะรายย่อย และแรงงานประชาชนทั่วไป ที่มีช่องว่างดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้ รวมถึงการประเมินความเสี่ยงให้เกิดความโปร่งใสกับผู้เป็นลูกค้าของสถาบันการเงิน รวมทั้งนอนแบงก์, ลดต้นทุนพลังงานไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซอย่างเป็นระบบ เป็นต้น.

ทีมเศรษฐกิจ