หลายคนยังสงสัยและเข้าใจผิด ระหว่าง “คริปโตเคอร์เรนซี” กับ “เงินดิจิทัล” ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร โดยในช่วงเวลานี้เป็นที่พูดถึงกันอย่างมากถึงคำว่า เงินดิจิทัล กระเป๋าเงินดิจิทัล ดิจิทัลวอลเล็ต เพราะรัฐบาลชุดใหม่นำทัพโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ป้ายแดง คนที่ 30 ของประเทศไทย ได้ประกาศแน่นอนแล้วว่า นโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ที่ต้องทำทันทีคือ ให้เงินดิจิทัล 10,000 บาทแก่ประชาชน 56 ล้านคนด้วยดิจิทัลวอลเล็ต
ทำความเข้าใจ เงินดิจิทัล เงินบาทดิจิทัล ดิจิทัลวอลเล็ต หรือเรียกอะไรก็แล้วแต่ล้วนแต่ถูกสร้างขึ้นมาในรูปแบบดิจิทัลด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน สืบค้นจากข้อมูลธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า เงินบาทดิจิทัล คือ สกุลเงินที่ถูกสร้างขึ้นมาในรูปแบบดิจิทัลด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกันกับคริปโตเคอร์เรนซี
ในปัจจุบันประเทศไทยรูปแบบของ เงินบาทดิจิทัล จะออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปรียบเสมือนเงินสดหรือธนบัตรแต่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล แตกต่างกับคริปโตเคอร์เรนซีที่ออกโดยภาคเอกชนและมุ่งเน้นการใช้เพื่อเก็งกำไรและแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ
เงินบาทดิจิทัล แตกต่างจาก เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money) โดย e-money เป็นเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ออกโดยสถาบันการเงินและผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงินภายใต้กฎหมายระบบการชำระเงิน ผู้ให้บริการจะออก e-money ให้แก่ผู้ใช้ที่เติมเงินสดไว้ล่วงหน้าเพื่อเอาไปจ่ายสินค้าและบริการในวงปิด เฉพาะเครือข่ายที่รับชำระ e-money นั้น ซึ่งอาจอยู่ในรูปการ์ด เช่น บัตรรถไฟฟ้า บัตรเติมเงิน หรืออยู่ในเครือข่ายของผู้ให้บริการ ที่แพร่หลายเลยคือรูปแบบ e-wallet บนแอปพลิเคชัน
ส่วน เงินดิจิทัล หรือ ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทย ที่ก่อนหน้านี้ให้ข้อมูลไว้ว่าจะถูกเขียนด้วยระบบบล็อกเชน เหมือนกับเงินบาทดิจิทัลของแบงก์ชาติ นั่นหมายความว่า เงินดิจิทัล 10,000 บาทจะไม่ใช่เงินสด ไม่สามารถกดถอนออกมาเป็นเงินสดได้ ซึ่งรูปแบบในการนำไปใช้จ่ายอาจผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน หรืออุปกรณ์ที่กำหนด เหมือนกับเงินบาทดิจิทัลของแบงก์ชาติ และอาจคล้ายกับรูปแบบ e-wallet ซึ่งสุดท้ายขึ้นอยู่ที่การออกแบบของเทคโลยีและการใช้จ่ายว่าอยู่ในรูปแบบใด
ขณะที่ เงินบาทดิจิทัล ของแบงก์ชาติ แท้ที่จริงแล้ว มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือ Digital Currency Electronic Payment (DCEP) ที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศไทย (ธปท.) โดยสกุลเงินดิจิทัล เรียกว่า บาทดิจิทัล และเนื่องจากเงินบาทดิจิทัลเป็นตัวเงินจริง แต่อยู่ในรูปของดิจิทัลที่ไม่สามารถจับต้องได้ ไม่ได้อยู่ในรูปเงินสดหรือธนบัตรแบบเดิม ดังนั้น จึงมีค่าเท่ากับธนบัตร เช่น เงินสด 100 บาท เท่ากับ 100 บาทดิจิทัล เป็นต้น หรือจะเรียกได้ว่า 1 บาท เท่ากับ 1 บาทดิจิทัลเสมอ และ CBDC กำลังอยู่ในช่วงทดลองในวงจำกัด
สิ่งที่น่าสนใจของ เงินดิจิทัล 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลใหม่ คือ จะทำออกมาในรูปแบบใด หากการใช้จ่ายเข้าข่ายที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแลอยู่ จะต้องขออนุญาต หรือเข้าไปทำความเข้าใจหรือไม่ เพราะหากเป็นในรูปแบบ เงินดิจิทัล หรือดิจิทัลวอลเล็ต ที่เขียนด้วยระบบบล็อกเชน ไม่ได้อยู่ในรูปแบบเงินสด อาจไม่สามารถออกใช้ได้จริง เนื่องจากมีข้อจำกัดทางด้านกฎหมายของแบงก์ชาติในเรื่องนี้อยู่ด้วย
ล่าสุดวันที่ 29 ส.ค. “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์เฟซบุ๊กย้ำกันชัดๆว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจะต้องทำทันทีเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ หลังจากได้คุยกับกระทรวงการคลัง และสภาพัฒน์ เพื่อทำความเข้าใจเรียบร้อยแล้ว และได้พูดคุยในรายละเอียดเรื่องเทคโนโลยีร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ เตรียมพร้อมระบบรองรับการใช้งานของประชาชน 56 ล้านคน และร้านค้าหลากหลายรูปแบบในไทย โดยยืนยันประชาชนจะต้องได้รับดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทภายในต้นปี 2567 อย่างแน่นอน.
(ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย , ธนาคารไทยพาณิชย์ , เฟซบุ๊ก เศรษฐา ทวีสิน – Srettha Thavisin)