สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ว่า วารสารการแพทย์แลนเซ็ต เผยแพร่บทความ ซึ่งเป็นการเขียนร่วมกันโดยผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก ( ดับเบิลยูเอชโอ ) กับคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ ( เอฟดีเอ ) รวมถึง นพ.ไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการโครงการฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของดับเบิลยูเอชโอ พญ.โสมยา สวามินาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของดับเบิลยูเอชโอ พญ.อานา มาเรีย เฮเนา เรสเตรโป หัวหน้าฝ่ายวิจัยของดับเบิลยูเอชโอ และพญ.มาเรียน กรูเบอร์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยวัคซีนของเอฟดีเอ เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเข็มที่สาม หรือบูสเตอร์ เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19
ทั้งนี้ เนื้อหาสำคัญของบทความมองว่า ยังคงต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ "ที่มากเพียงพอและมีความละเอียดกว่านี้" ว่าการฉีดวัคซีนกระตุ้น "สามารถให้ผลที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง" ในการลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เช่น การฉีดบูสเตอร์สามารถลดแนวโน้มการป่วยหนักและการเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวได้มากเพียงใด และ "มีประสิทธิภาพมากแค่ไหน" ต่อบรรดาเชื้อไวรัสโคโรนาหลากหลายสายพันธุ์ ที่กำลังแพร่กระจายอยู่บนโลกในเวลานี้ 
นอกจากนี้ การฉีดบูสเตอร์ "เร็วเกินไป" และ "บ่อยเกินไป" อาจเป็นอันตรายมากกว่าสร้างประโยชน์ อย่างไรก็ตาม คณะผู้เชี่ยวชาญซึ่งร่วมกันเขียนบทความชิ้นนี้มองว่า บุคคลบางกลุ่ม อาทิ ผู้มีโรคประจำตัวซึ่งส่งผลให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันไม่มีประสิทธิภาพเท่าบุคคลปกติ สมควรได้รับวัคซีนเข็มสาม และทิ้งท้ายว่า "วัคซีนทุกแบบ" ซึ่งดับเบิลยูเอชโออนุมัติเป็นกรณีฉุกเฉิน สามารถลดความเสี่ยงจากการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ "และจะมีประโยชน์มากกว่านี้" หากใช้กับผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนเลยแม้แต่เข็มเดียว
อนึ่ง สหรัฐเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข็มที่สาม ให้แก่ผู้ที่มีภาวะภูมิค้มกันบกพร่อง หรือระบบภูมิคุ้มกันทำงานไม่ปกติ ตั้งแต่วันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่เอฟดีเอยังไม่ได้ข้อสรุปต่อการที่ทำเนียบขาวเรียกร้อง ให้มีการฉีดวัคซีนเข็มที่สามแก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต้องการให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.นี้.

เครดิตภาพ : AP