สืบเนื่องจากกรณีที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เตรียมลุยสืบสวนสอบสวน ขยายผลต่อเนื่องจากการจับกุม “กำนันนก“ หรือนายประวีณ จันทร์คล้าย ผู้ต้องหาในคดีสั่งยิงสารวัตรทางหลวง หรือ “สารวัตรแบงค์” นายตำรวจตงฉิน หลังพบว่ากำนันนก มีตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัท 2 แห่ง คือ ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด และ ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการรับเหมาก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย รวมถึงประกอบการรับเหมาก่อสร้างผลิตและจำหน่ายยางแอสฟัลท์ติกคอนกรีต อีกทั้งพบว่างบการเงินรอบปี 2565 มีรายได้ถึง 746.4 ล้านบาท กำไรสุทธิรวมประมาณ 5.3 ล้านบาท กำไรสะสมรวม 147.9 ล้านบาท ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 11 ก.ย. “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจาก ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ “กองคดีฮั้วประมูล” กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า สำหรับนายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ กำนันนก พบว่ามีรายชื่อเป็นกรรมการบริษัทในบริษัทของนายประโยชน์ จันทร์คล้าย หรือ ผู้ใหญ่โยชน์ (บิดา) ชื่อบริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมทำการโอนย้ายมาให้บุตรชาย โดยเดิมทีบริษัทดังกล่าว เคยเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดมาก่อน ส่วนบริษัทที่นายประวีณดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าของกิจการเอง คือ ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด

ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวว่า จากเหตุการณ์และความเชื่อมโยงที่เกิดขึ้น ตลอดห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนได้มีการรายงานข้อมูลที่ตรวจสอบพบไปยัง พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และอธิบดีได้สั่งการมอบหมายให้ดำเนินการตั้งเลขสืบสวน เพื่อค้นหา รวบรวมข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติม สำหรับประวัติการประมูลงานในโครงการต่างๆ ของบริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด (บริษัทของผู้ใหญ่โยชน์) พบว่า ระหว่างห้วงปี 2554 ถึงปี 2566 มีทั้งหมด 919 โครงการ และมีโครงการที่เข้าเสนอราคา 131 โครงการ ส่วนโครงการที่ได้งานมีทั้งหมด 788 โครงการ วงเงินสัญญาที่ได้งาน คือ 4,564,157,577.44 บาท ดังนี้ ปี 54 จำนวน 26 โครงการ, ปี 55 จำนวน 57 โครงการ, ปี 56 จำนวน 63 โครงการ, ปี 57 จำนวน 37 โครงการ, ปี 58 จำนวน 77 โครงการ, ปี 59 จำนวน 145 โครงการ, ปี 60 จำนวน 83 โครงการ, ปี 61-62 จำนวน 49 โครงการ, ปี 63 จำนวน 98 โครงการ, ปี 64 จำนวน 61 โครงการ, ปี 65 จำนวน 34 โครงการ และปี 66 จำนวน 9 โครงการ ส่วนประวัติการประมูลงานในโครงการต่างๆ ของบริษัท ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด (บริษัทของกำนันนก) พบว่า ระหว่างห้วงปี 2557 ถึงปี 2566 มีทั้งหมด 619 โครงการ และมีโครงการที่เข้าเสนอราคา 96 โครงการ ส่วนโครงการที่ได้งานมีทั้งหมด 523 โครงการ วงเงินสัญญาที่ได้งาน คือ 1,089,281,511.00 บาท

แฉปมลึก ‘กำนันนก’ โทรฯชวน ‘สว.แบงค์’ 4-5 ครั้งไม่มาหา ใครโทรฯกริ๊งเดียวทำจบชีวิต

เมื่อถามว่าในบรรดาการประมูลงานในโครงการต่างๆ ของทั้งสองบริษัทดังกล่าว มีความโปร่งใส ทำตามขั้นตอน E-Bidding หรือไม่ หรือเป็นการประมูลแบบเปิดซอง อย่างไรบ้างนั้น ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลของทั้งสองบริษัทดังกล่าว พบว่ามีการทำโครงการจำนวนมาก ทั้งโครงการขนาดเล็กยิบย่อยที่มีราคาไม่สูง ไปจนถึงโครงการขนาดใหญ่ แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะมุ่งเน้นไปที่โครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ามากกว่า 30 ล้านบาท ขณะนี้มีอยู่ 2 โครงการ ซึ่งเป็นของ ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด (บริษัทของผู้ใหญ่โยชน์) ที่เข้าข่ายมีพฤติการณ์การเสนอราคาด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) แบบผิดปกติ คือ การประกวดราคาจ้างก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย ต.ลำลูกบัว-บรรจบทางหลวงหมาย 346 ซึ่งเป็นของปีงบประมาณ 2564 ด้วยการตั้งงบประมาณอยู่ที่ 350,000,000 บาท ขณะที่ราคากลางอยู่ที่ 349,996,811 บาท แต่ประมูล e-bidding ได้ไป 240,000,789 บาท ต่ำกว่าราคากลางเพียง 31% ซึ่งก็ต้องไปตรวจสอบต่อว่าทำไมจึงฟันที่ราคานี้ อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการดังกล่าวนี้ พบว่าในวันที่มีการประกาศโครงการ วันที่ 8 เม.ย. 64 มีรายชื่อผู้ขอรับ/ซื้อเอกสาร (หรือเรียกว่าการซื้อซอง) จำนวน 32 บริษัท ขณะที่วันเคาะราคา หรือวันประมูล e-bidding วันที่ 17 พ.ค. 64 ปรากฏเหลือชื่อรายชื่อผู้ยื่นเอกสารเพียงแค่ 3 บริษัท หนึ่งในนั้น คือ ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด

ส่วนอีกโครงการ คือ การประกวดราคาจ้างเหมาทำการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย อ.ดอนตูม-ต.ลำลูกบัว ซึ่งเป็นของปีงบประมาณ 2560 ด้วยงบประมาณ 300,000,000 บาท ขณะที่ราคากลางไม่มีการระบุจำนวน (บาท) แต่มีวงเงินสัญญา 298,399,900 บาท ห่างงบประมาณไม่มาก อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการดังกล่าวนี้ พบว่าในวันที่มีการประกาศโครงการ 6 พ.ย. 60 มีรายชื่อผู้ขอรับ/ซื้อเอกสาร (หรือเรียกว่าการซื้อซอง) ในห้วงปี 59 จำนวน 33 บริษัท ขณะที่วันเคาะราคา วันที่ 30 ก.ย. 59 ปรากฏเหลือชื่อรายชื่อผู้ยื่นเอกสารเพียงแค่ 4 บริษัท โดยหนึ่งในนั้น คือ ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด ทั้งนี้ ทั้ง 2 โครงการเป็นโครงการใต้สังกัดกรมทางหลวง

ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ดีเอสไอจะไปตรวจสอบว่าทั้งสองโครงการที่บริษัทดังกล่าวประมูลได้มา มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการฮั้วประมูลอย่างไรบ้างหรือไม่ ซึ่งถ้าหากมีการฮั้วประมูลจริง จะต้องไปดูต่อว่ามีพฤติการณ์สมยอมราคากันอย่างไร ได้งานโครงการมาด้วยวิธีการใด เป็นต้น จึงเป็นเหตุให้ดีเอสไอออกหมายเรียกพยานแก่รายชื่อผู้ยื่นซื้อซองของทั้งสองโครงการข้างต้น จำนวนประมาณ 65 บริษัท เพื่อให้เข้ามายื่นเอกสารชี้แจงและให้ปากคำว่าเหตุใดมีการยื่นซื้อซอง แต่พอวันประมูล e-bidding กลับไม่เข้ามาดำเนินการ เพราะมันคือการยอมเสียค่าทำเนียมซื้อซองฟรีๆ หรือบริษัทเหล่านี้ ถูกบุคคลใดข่มขู่คุกคามเพื่อกีดกันไม่ให้เข้าร่วมประมูลหรือไม่ ก็จะเป็นเรื่องของอิทธิพลท้องถิ่นได้เช่นเดียวกัน

ร.ต.อ.สุรวุฒิ เผยอีกว่า ในการประมูลโครงการผ่านระบบ e-bidding ส่วนใหญ่ในแต่ละจุดจะมีคนที่ดำเนินการจัดฮั้ว ซึ่งดีเอสไอมีฐานข้อมูลของกลุ่มคนเหล่านี้เรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นพบมีประมาณ 4-5 กลุ่ม ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ก็มีพฤติการณ์ประกอบกิจการเกี่ยวกับการทำทาง แล้วก็จัดฮั้วไปคู่ขนานกัน ลักษณะคล้ายการจัดงานให้กัน โดยจะมีการเคลียร์ทาง หรือ Backdoor เพื่อให้เหลือคนน้อยที่สุด เพราะว่าการประมูล e-bidding จะไม่มีใครทราบราคา ซึ่งถ้าหากกลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีการแอบตกลงกัน ก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะราคาของการชนะการประมูลระหว่างกันนั้นมักจะไม่สูสีกัน