เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 14 ก.ย. ที่กระทรวงแรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เป็นประธานประชุมมอบนโยบายปี 2567 เพื่อขับเคลื่อนงานกระทรวงแรงงาน มีนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมผู้บริหารระดับสูงร่วมประชุม โดยมีนโยบายสำคัญที่จะผลักดันในปี 2567 ภายใต้แนวคิด “ทักษะดี มีงานทำ หลักประกันสังคมเด่น เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” 8 ข้อ คือ 1.พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานชั้นสูงรองรับการจ่ายค่าจ้างตามความสามารารถ 2.เร่ง Up-Skill ทักษะฝีมือแรงงานเพื่อการมีงานทำ รองรับเศรษฐกิจใหม่ 3.ใช้ระบบ One Stop Service บริหารการทำงานของแรงงานต่างด้าวครบจบที่จุดเดียว 4. เพิ่มจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ 100,000 อัตรา ภายในปี 2567 5.ลดหนี้ เติมทุน สร้างสุขแรงงาน (Micro Finance) 6.กองทุนมั่นคง แรงงานมั่งคั่ง ประกันสังคมยั่งยืน 7.ประกันสังคมยุคใหม่ สร้างความมั่นคง เพิ่มความมั่นใจ (Best E-Service) และ 8.สร้างรากฐานเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการคุ้มครองแรงงาน

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า จะขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านแรงงานที่นายกฯ แถลงต่อสภาเมื่อวันที่ 11-12 ก.ย. โดยจะนำไปสู่การปฏิบัติให้เป็นผลสำเร็จ โดยเฉพาะในเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาท นายกฯ ไม่ได้กำหนดในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา แต่เป็นการหาเสียงของพรรคการเมืองว่าค่าจ้างในปี 2570 ต้องไปถึง 600 บาท แต่ในการแถลงของนายกฯ ต้องเอา 400 บาท มาเป็นตัวตั้งต้นในปี 2567 จึงต้องสนองโดยจะต้องหารือกับทั้งฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และฝ่ายรัฐก่อน อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 จะเป็นการปรับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานไปก่อนทุกสาขา จะต้องได้ไม่ต่ำกว่า 400 บาท สำหรับค่าจ้างขั้นต่ำ จะเป็นไปตามระบบไตรภาคี ถ้าอยู่ครบ 4 ปี 600 บาทถึงแน่นอน

นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับการยกระดับฝีมือแรงงานนั้น จะทำทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะแรงงานที่จะส่งไปต่างประเทศนั้น ต้องมีการพัฒนาฝีมือให้ตรงความต้องการระเทศต้นทาง เพื่อให้ได้ค่าตอบแทนที่สูงขึ้น จะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งตนหวังว่าจะมาช่วยสร้างสมดุลเรื่องรายได้เกี่ยวกับแรงงาน เพราะปัจจุบันเรามีแรงงานต่างด้าว กว่า 4 ล้านคน ทำรายได้กว่า 4 แสนล้านบาท แต่ใช้จ่ายเงินในประเทศไทยเพียงเล็กน้อย ที่เหลือส่งกลับประเทศต้นทาง ทำให้เรายังขาดดุลตรงนี้ราวๆ 3 แสนล้านบาท จึงตั้งเป้าให้มีการส่งแรงงานไทยมีฝีมือไปทำงานต่างประเทศ ตั้งเป้าให้สร้างรายได้ไม่น้อยไปกว่า 3 แสนล้านบาท หรือมากกว่านี้ นอกจากนี้ยังมีแนวคิดในการพัฒนาฝีมือแรงแรงงานผู้ลี้ภัยให้มีงานทำด้วย   

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า นอกจากยังเตรียมหารือปลัดกระทรวงแรงงาน เลขาธิการประกันสังคม และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาช่องทางเพิ่มผลกำไรให้กับกองทุนประกันสังคม จากปัจจุบัน 2.4 ล้านล้านบาท ปีที่แล้วมีกำไร 7 หมื่นล้านบาท ปี 2566 คาดว่าจะมีกำไร 6 หมื่นล้านบาท แต่ต้นตั้งเป้าให้ได้มากกว่านี้ ราวๆ ปีละ 5% หรือ 1.2 แสนล้านบาท พร้อมกันนี้ ยังมีแนวคิดที่ช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ประกันตนที่เป็นหนี้นอกระบบ ให้มีการนำเงินกองทุนฯ ส่วนหนึ่ง มาให้ผู้ประกันตนยืมไปจ่ายหนี้นอกระบบ รายละ 5 หมื่นบาท แล้วให้นายจ้างหักจากเงินเดือน ส่งคืนประกันสังคม อย่างไรก็ตาม ยังต้องหารือในข้อกฎหมายก่อน  

ในวันเดียวกันนี้ นายพิพัฒน์ ยังได้เปิดเผยถึงสเปกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่ แทนนายบุญชอบ ที่กำลังจะเกษียณอายุราชการ ว่า ตนยืนยันชัดเจนว่าไม่นิยมแต่งตั้งคนข้ามห้วย ตนต้องการให้คนในกระทรวงได้เติบโต อีกทั้ง คนในกระทรวงเอง ซึ่งเป็นคนที่ทำงานมานาน มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านแรงงาน กฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องก็สามารถที่จะเริ่มงานได้เลย ไม่ต้องมานับหนึ่งใหม่ อย่างตนก็เป็นคนมาใหม่ ยังต้องใช้เวลาอีก 6 เดือน

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางานเปิดเผยว่า ในส่วนของการฝึกทักษะฝีมือผู้ลี้ภัยนั้น อาจจะเริ่มต้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และมีการกำหนดพื้นที่ให้สามารถทำงานได้ ไม่ได้อนุญาตให้เดินทางไปทำงานได้ทุกพื้นที่ในประเทศไทย.