ผ่านไปแล้วกับเวทีรัฐสภา ที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้แถลงนโยบาย “รัฐบาลเศรษฐา 1” ไปเมื่อวันที่ 11-12 ก.ย. ก่อนเดินหน้าลุยงานทันที ถึงแม้การแถลงที่หลายคนบอกว่าสอบผ่าน แต่ก็ถูกวิจารณ์ยับ ว่า เป็นนโยบายไม่ตรงปก ลืมคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนหลายเรื่อง ทั้งเรื่อง รถไฟฟ้า กทม. 20 บาทตลอดสาย, ทุกครอบครัวมีรายได้ไม่น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือน, ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570 และเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือน ภายในปี 2570 ด้วย เปรียบเสมือนเพียงแต่เป็นการโฆษณาเกินจริง

ทั้งนี้ ในการประชุมร่วมรัฐสภา “นายกฯ เศรษฐา” ขอความเห็นใจรัฐบาลเพราะเพิ่งเริ่ม และให้เชื่อมั่นรัฐบาลมือใหม่ ที่มีความตั้งใจ พร้อมฟังทุกคำติชม อะไรที่เป็นประโยชน์จะนำมาปรับปรุงแต่งเติมนโยบายในอนาคต และไม่ต้องห่วงรัฐบาลจะจัดทำรายละเอียดต่างๆ พร้อมตัวเลข ตัวชี้วัดอื่นๆ ระยะเวลา ไทม์ไลน์ ให้ครบถ้วน โดยจะมีที่มางบประมาณ ตัวชี้วัด ไทม์ไลน์ บรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการของแต่ละกระทรวง พร้อมกับมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน

“ขอให้ 4 ปีจากนี้ไป เป็น 4 ปีของการที่พวกเรา จะทำงานหนักจะทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ คุ้มเงินภาษีและความไว้วางใจของพี่น้องประชาชนที่ได้มอบให้ เป้าหมายความเร็วของนโยบายที่แถลงไปของรัฐบาลนี้ จะพิสูจน์ได้โดยการเจริญเติบโตของประเทศ ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ ความมั่นคง การศึกษา สิทธิเสรีภาพ การบังคับใช้กฎหมาย และอีกหลายๆ ประการ ผม “นายเศรษฐา ทวีสิน” ขอเชิญชวนให้ทุกท่านในรัฐสภาอันทรงเกียรตินี้ ร่วมกับประชาชนทุกคนติดตามการทำงานของรัฐบาล เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ที่ได้มอบความไว้วางใจให้กับพวกเรา”

หลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเสร็จ ก็ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกทันที ในวันนี้ (13 ก.ย. 66) โดย “นายกฯ เศรษฐา” ได้ออกมาชี้แถลงมติการประชุม ครม. เอง ถึงความฉับไวของรัฐบาลแบบสับๆ โดยมติ ครม. นัดแรก ได้คลอดมาตรการมาหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นมีเรื่อง การลดค่าไฟฟ้า เป็น 4.10 บาทต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง จาก 4.45 บาท เริ่มรอบบิลเดือนกันยายนนี้ ลดราคาน้ำมันดีเซล ให้ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร เริ่ม 20 ก.ย. พักหนี้เกษตรกร และธุรกิจขนาดเล็ก เป็นเวลา 3 ปี เปลี่ยนการจ่ายเงินข้าราชการ จากเดือนละ 1 รอบเป็นเดือนละ 2 รอบ คาดเริ่ม 1 ม.ค. 67 ฟรีวีซ่าชั่วคราว ยกเลิกการขอเข้าเดินทางมาไทยของจีนและคาซัคสถาน ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 66-29 ก.พ. 67

เป็นการปรับสู่โหมดการโกยแต้ม หวังเรียนคะแนนนิยมของประชาชน ให้หันกับมาสวามิภักดิ์เหมือนยุครัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” พรรคไทยรักไทย ที่เคยส่งมอบความสุขให้กับประชาชน ด้วยนโยบายประชานิยมปังๆ จนเกิดกระแสฟีเวอร์มาแล้ว

เพราะ “นายกฯ เศรษฐา” เคยยอมรับว่า รัฐบาลทางพรรคเพื่อไทยได้เทหมดหน้าตัก ไม่มีต้นทุนเหลือแล้ว จากการที่ต้องเป็นรัฐบาลข้ามขั้ว เพราะฉะนั้นเวลา 4 ปีนี้ เป็นเหมือนการเดิมพันที่ต้องเร่งฟื้นศรัทธาให้ได้ จึงเร่งรีบออกมาตรการต่างๆ อย่างรวดเร็ว ตามสโลแกน “ทำเร็ว ทำไว ทำทันที” 

แต่ระวังจะกลายเป็น “รัฐบาลสายเปย์” จนทำให้เป็นการทิ้งภารงบประมาณการเงินการคลัง ที่จะไปหางบประมาณมาจากไหน ท้ายที่สุดประชาชนก็จะต้องมาเป็นผู้รับภาระหรือไม่ ดังนั้นการจะคลอดมาตรการอะไรหลังจากนี้ อยากให้รัฐบาลคิดให้ดีๆ คิดให้รอบคอบก่อน ไม่เช่นนั้นอาจจะเสียรังวัดได้

จากมาตรการที่ออกมาก็ถือว่ามีเรื่อง เซอร์ไพร้ส์ คือ การเปลี่ยนการจ่ายเงินข้าราชการ จากเดือนละ 1 รอบ เป็นเดือนละ 2 รอบ คาดเริ่ม 1 ม.ค. 67 เกิดเสียงสะท้อนสวนกระแสความหวังดี ออกมาทันที จากบรรดาเหล่าข้าราชการที่ไม่ต้องการการแบ่งจ่ายเงินเดือน เพราะน่าจะเกิดผลกระทบมากกว่าได้รับเงินเดือนครั้งเดียวทั้งเรื่องหนี้สิน ค่าน้ำ ค่าไฟ ที่เคยจ่ายอยู่เป็นประจำ ทำให้รัฐบาลต้องออกมาแตะเบรก เดินเกมถอย ขอให้เป็นเรื่องของคนสมัครใจ

ถือเป็นบทเรียนสำหรับ “รัฐบาลเศรษฐา 1” การ “ทำเร็ว ทำไว ทำทันที” ตามสโลแกนเป็นสิ่งที่ดี แต่ก่อนที่จะทำ ก็ควรศึกษาให้รอบคอบก่อน ไม่เช่นนั้นอาจจะสะดุดขาตัวเองล้มไม่เป็นท่าก็ได้

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่สำคัญที่ต้องจับตาขณะนี้ของ “นายกฯ เศรษฐา” ที่ได้วางตัวเองในโมเมนที่สำคัญในการทำงาน คือ การคุมงานด้านเศรษฐกิจ กองทัพ และความมั่นคง ที่หลายคนมองว่า “นายกฯ เศรษฐา” รวบตึงงานเอาไว้ทั้งหมด ไม่กระจายงาน แม้นายกฯ เคยบอกไว้ว่าจะคุมงานในระยะแรกเท่านั้น เพราะเป็นเรื่องของความมั่นคง ไม่ได้มีการแบ่งก๊ก แบ่งเหล่า

แต่หลังจากมีการแบ่งงานให้รองนายกฯ ให้กำกับดูสายงาน เกิดมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ตรงกับสายงานบังคับบัญชาของพรรคการเมืองแบบผิดฝา ผิดตัว ถูกจับตาอีกว่าจะเกิดปัญหาว้าวุ่นกันแน่นอน เพราะมีคนตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะมีการล้วงลูกข้ามพรรคกันเกิดขึ้นหรือไม่ เช่น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ แทนที่จะให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้กำกับดูแล กลับไปมอบอำนาจให้กับ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ เป็นผู้กำกับดูแลแทน  

จึงเกิดคำถามตามมาไปถึง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ 1 ในผู้มีอำนาจยุค 3 ป. ว่า เกิดอะไรขึ้นกับพรรคพลังประชารัฐ พี่ใหญ่กำลังจะลดบทบาทตัวเอง หรือถูกบีบให้ลดบทบาท จึงต้องรอดูต่อไปงานนี้จะอยู่ด้วยกันแบบดูดดื่ม หรือแบบกล้ำกลืนฝืนทน ขณะเครือข่ายของ “น้องเลิฟ” บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้คุมงานตามสายงานบังคับบัญชา อย่าง “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกฯ และรมว.พลังงาน นอกจากนี้ ยังตั้ง “บิ๊กเล็ก” พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ นั่งเลขานุการ รมว.กลาโหม

นอกจากนี้ในที่ประชุม ครม. โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี “น.สพ.ชัย วัชรงค์” ออกมาแถลงว่า “ในที่ประชุม ครม. นายกฯ สั่งการต่อที่ประชุมเกี่ยวกับการเปลี่ยนบทบาทภาครัฐ จากการเป็นผู้กำกับดูแลหรือคุณพ่อรู้ดีที่ชอบออกกฎ ระเบียบ ให้ทุกกระทรวงไปดูว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ผ่านมามีชุดไหนบ้าง ควรให้มีต่อให้ส่งเหตุผลกลับมาในวันที่ 25 ก.ย. ถ้าไม่มีเหตุผลและข้อเสนอที่ดีพอให้ยกเลิกทั้งหมด รวมถึงให้กระทรวง ทบวง กรม ที่ในอดีตรับคำสั่งหรืออำนาจจาก คสช. แล้วยังต้องปฏิบัติการตามนั้น ให้ไปทบทวนว่า คําสั่ง คสช. อันไหนที่ยังจำเป็นต้องคงไว้หรือไม่ หากไม่เสนอมาในวันที่ 9 ต.ค. ให้ถือว่ายกเลิก ใช้มติ ครม. ก็ยกเลิกได้ ตอนนี้รัฐบาลนี้เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ยกเลิกได้อยู่แล้ว”

ถ้าข้าราชการยังไม่ปฏิบัติตามข้อสั่งการดังกล่าวของนายกฯ ก็ต้องมีมาตรการ งานนี้คงเป็นโจทย์ยากของบรรดาข้าราชการที่ติดอยู่ในกรอบกฎหมายถ้าไม่มีกฎหมายรองรับก็กลัวติดบ่วงในความรับผิดชอบที่เกิดในภายหลังได้ ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าอาจจะเป็นเงื่อนปมที่ทำงานสะดุดเดินหน้าไปไม่ได้

ส่วนประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ได้มอบให้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ เป็นผู้รับผิดชอบ และแต่งตั้ง คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ยึดแนวทางศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ ใช้เวทีรัฐสภาหารือรูปแบบแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจัดทำประชามติ ให้ประชาชนร่วมออกแบบกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตยร่วม

ทำให้พรรคก้าวไกล “พริษฐ์ วัชรสินธุ” ต้องออกมาย้อนความจำในสิ่งที่พรรคเพื่อไทยได้พูดทันที ว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นหนึ่งในประเด็นที่สังคมจับตามอง เนื่องจากพรรคเพื่อไทยเคยออกแถลงการณ์เพียง 43 วันก่อนหน้านี้ คือ เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ในวันที่พรรคเพื่อไทยฉีก MOU กับพรรคก้าวไกลและพันธมิตร 8 พรรค เพื่อจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่มีก้าวไกล ว่า ในรัฐบาลเพื่อไทยที่ไม่มีก้าวไกล จะมี “มติ ครม.ในการประชุมครั้งแรก ให้มีการทำประชามติ และจัดตั้ง ส.ส.ร. ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ”

ดังนั้นการตั้งคณะกรรมการศึกษาขึ้นมาอีกชุดจะไม่ได้นำไปสู่การที่เราได้รับทราบมุมมองอะไรที่เพิ่มเติมอย่างมีนัยสำคัญจากที่เคยถูกแสดงมาหมดแล้ว แต่อาจมีวัตถุประสงค์ของการ ยื้อเวลา-ย้อนหลักการ-ยอมต่ออำนาจเดิม พรรคก้าวไกลยังคงยืนยันว่า หากไม่อยากให้มีการยื้อเวลา ย้อนหลักการ หรือยอมต่ออำนาจเดิม

ทางออกที่เรียบง่ายที่สุด คือการที่ ครม. ออกมติให้เดินหน้าจัดทำประชามติ เพื่อสอบถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่กับหลักการของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร. เลือกตั้ง เพราะหากประชาชนทั่วประเทศเห็นชอบอย่างท่วมท้น ผลประชามติและเจตจำนงของประชาชนจะเป็นอาวุธที่สำคัญและชอบธรรมที่สุด ในการฝ่าฟันแรงเสียดทานจากเครือข่ายอำนาจเดิม และเดินหน้าสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย

การส่งสัญญาณร้อนจากพรรคก้าวไกลครั้งนี้ เห็นแล้วไม่ธรรมดา เก็บทุกเม็ด จัดทุกดอก ฟาดแบยับๆ ดังที่เราเห็นการทำหน้าที่ในวันแถลงนโยบายที่ผ่านมา ดังนั้นการเดินหน้าของ “รัฐบาลเศรษฐา 1” จะต้องรอบคอบคิดให้ดี ให้ถี่ถ้วนพูดให้น้อย ทำให้มาก คิดก่อนพูด ไม่เห็นอาจจะสะดุดขาตัวเองก็เป็นได้ เห็นแล้วเสียวสันหลังแทนจริงๆ.