เมื่อวันที่ 15 ก.ย. สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2566 เป็นต้นไป ดาวหางจะปรากฏในช่วงหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า อยู่บริเวณระหว่างกลุ่มดาวสิงโต (Leo) และกลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo) ตำแหน่งของดาวหางอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นมุมประมาณ 10 องศา จึงมีเวลาสังเกตประมาณเกือบ 1 ชั่วโมง ก่อนจะตกลับขอบฟ้าตามดวงอาทิตย์ไป และในวันที่ 17 กันยายน 2566 ดาวหางจะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ที่ระยะห่าง 34 ล้านกิโลเมตร (ใกล้กว่าวงโคจรของดาวพุธประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์) คาดการณ์ว่าจะมีความสว่างมากขึ้น และอาจมีค่าความสว่างปรากฏมากถึง 3.0 แต่เนื่องจากช่วงนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงมรสุม มีฝนตกหนัก หลายพื้นที่มีเมฆมาก จึงอาจเป็นอุปสรรคทำให้สังเกตได้ค่อนข้างยาก  

ดาวหางนิชิมูระ หรือ C/2023 P1 (Nishimura) ได้รับยืนยันการค้นพบเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 เป็นดาวหางคาบยาว มีแหล่งที่มาจากเมฆออร์ต (Oort Cloud) มีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ 437 ปี โคจรมาใกล้โลกที่สุดเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา และจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ในวันที่ 17 กันยายน 2566 หลังจากนี้ดาวหางจะค่อย ๆ โคจรออกห่างจากดวงอาทิตย์ และมีความสว่างลดลงเรื่อย ๆ จนไม่สามารถสังเกตเห็นได้อีก และจะโคจรกลับเข้ามาเฉียดโลกและดวงอาทิตย์อีกครั้ง ในอีกกว่า 400 ปีข้างหน้า