สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ว่า ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้น เกี่ยวกับผลกระทบร้ายแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ คณะกรรมาธิการหิมะภาค (ซีซี) ของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งสวิตเซอร์แลนด์ เผยให้เห็นถึงธารน้ำแข็งที่ลดลงอย่างรวดเร็ว และเตือนว่า สถานการณ์ข้างต้นจะเลวร้ายกว่าเดิม

ทั้งนี้ ธารน้ำแข็งในเทือกเขาแอลป์ละลายมากที่สุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปี 2565 โดยปริมาณน้ำแข็งหายไปถึง 6% ขณะที่รายงานของซีซี แสดงให้เห็นว่า ธารน้ำแข็งไม่ฟื้นตัวมากนักในปีนี้ และสวิตเซอร์แลนด์สูญเสียปริมาณน้ำแข็งเพิ่มอีก 4% นับเป็นการลดลงครั้งใหญ่อันดับสอง นับตั้งแต่มีการเริ่มการตรวจวัด

“ธารน้ำแข็งทั้งหมดละลายไปมาก” นายแมตเธียส ฮัสส์ หัวหน้าหน่วยงานติดตามธารน้ำแข็งในสวิตเซอร์แลนด์ (กลามอส) กล่าว “แต่สำหรับธารน้ำแข็งขนาดเล็ก การละลายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษ และกำลังจะหายไปแล้ว”

อนึ่ง การสูญเสียธารน้ำแข็งปริมาณมากในสวิตเซอร์แลนด์นั้น ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับฤดูหนาวที่มีปริมาณหิมะต่ำมาก รวมถึงอุณหภูมิในฤดูร้อนที่สูงขึ้น

นักวิทยาศาสตร์หลายคนเตือนว่า ธารน้ำแข็งสวิตเซอร์แลนด์อาจหายไปทั้งหมดภายในสิ้นศตวรรษนี้ หากไม่มีการดำเนินการเพื่อควบคุมภาวะโลกร้อนมากขึ้น ซึ่งฮัสส์ เน้นย้ำถึงความจำเป็น ในการรักษาเสถียรภาพของสภาพอากาศ โดยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์โดยเร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม ฮัสส์ยอมรับว่า แม้โลกจะสามารถบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีส ฉบับปี 2558 ซึ่งจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส เหนือระดับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม แต่สวิตเซอร์แลนด์จะรักษาปริมาณธารน้ำแข็ง ได้เพียงประมาณ 1 ใน 3 เท่านั้น.

เครดิตภาพ : AFP