กรณีเกิดเหตุเด็กชายอายุ 14 ปี บุกกราดยิงกลางห้างพารากอน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ หลายราย ก่อนยอมทิ้งปืนมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก่อนถูกนำตัวไปค้นบ้านพักพบเครื่องกระสุนปืนหลายขนาดจำนวนมาก โดยคดีดังกล่าวหลังเกิดเหตุไม่นาน ได้มีนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายความดังชื่อดัง ได้ออกมาโพสต์ข้อความเกี่ยวกับข้อกฎหมายกรณีเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

“ทนายเดชา”เปิดข้อก.ม.เด็กอายุ14ยิงคน ต้องได้รับโทษอาญาหรือไม่

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานได้เพิ่มเติมข้อมูลจากสำนักงานกิจการยุติธรรม ถึงกระบวนการทางกฎหมายเมื่อเด็กหรือเยาวชนถูกจับดำเนินคดีอาญา จะมีกฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 29) พ.ศ.2565 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ซึ่งมีขั้นตอนแตกต่างจากผู้ใหญ่
เด็ก หมายถึง บุคคลอายุไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์
เยาวชน หมายถึง บุคคลอายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์

ทั้งนี้ เมื่อมีการจับกุมเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 12-18 ปี ตามกฎหมายกำหนดให้ตำรวจต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิตามกฎหมายให้เด็กและเยาวชนทราบ จากนั้นนำตัวไปที่ทำการพนักงานสอบสวนโดยเร็ว เพื่อทำการสอบปากคำตามกระบวนการ จากนั้นให้ส่งตัวไปศาลเพื่อตรวจสอบการจับกุมภายใน 24 ชม.

กรณี “เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี” ตำรวจต้องแจ้งเรื่องไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก (พม.) เพื่อดำเนินการ ดังนี้
-สืบเสาะและพินิจข้อเท็จจริง เพื่อกำหนดแนวทางคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ไปจนถึงการกำหนดแผนแก้ไขฟื้นฟูเด็ก วิธีการคุ้มครองครองสวัสดิภาพ การยุติการคุ้มครอง รวมถึงการเยียวยาผู้เสียหาย

กรณี “เด็กอายุ 12-15 ปี” ตำรวจต้องส่งเรื่องแจ้งไปยังผู้ปกครองและสถานพินิจ เพื่อทำการสืบเสาะ แก้ไข บำบัดฟื้นฟู และส่งให้ตำรวจ/ อัยการ /ศาลภายใน 30 วัน แล้วนำตัวเด็กส่งศาลเยาวชนภายใน 24 ชม. หากศาลเยาวชนฯพิจารณาคดีแล้วเห็นว่า “ยังไม่เห็นสมควรพิพากษาลงโทษ”จะสามารถดำเนินการ
-ว่ากล่าวตักเตือน
-ปล่อยชั่วคราว (มี /ไม่มีประกัน)
-ส่งตัวไปยังสถานฝึกอบรม/มอบตัวเด็กให้อยู่กับบุคคล/องค์กรที่ศาลเห็นสมควร หรือกำหนดเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตามภายในระยะเวลาที่กำหนด

กรณี “เด็กอายุ 15-18 ปี” เมื่อตำรวจพบตัว หรือรับตัวเด็กที่ต้องหาว่าทำความผิดในคดีอาญา ต้องมีการส่งเรื่องไปยังอัยการและนำตัวเด็กส่งศาลเยาวชนฯภายใน 24 ชม. หากศาลเห็นว่า ยังไม่สมควรพิพากษาลงโทษ สามารถดำเนินการเช่นเดียวกับเด็กอายุ 12-15 ปี คือ
-ว่ากล่าวตักเตือน
-ปล่อยชั่วคราว (มี/ไม่มีประกัน)

หากศาลเห็นสมควรพิพากษาลงโทษ
-ลดโทษกึ่งหนึ่งของโทษทางกฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดในคดีอาญา
-สั่งโอนคดีไปยังศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาได้ (หากเด็กหรือเยาวชนที่ทำความผิดมีร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และนิสัยเหมือนผู้ใหญ่)

ทั้งนี้ แม้เด็กและเยาวชนจะไม่ได้รับโทษทางอาญา แต่ยังคงต้องรับผิดในทางแพ่ง โดยพ่อแม่ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับกระบวนยุติธรรมของเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดปัจจุบันมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 73 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค.2565 โดยกำหนดเกณฑ์อายุเด็กซึ่งไม่ต้องรับโทษแม้ได้กระทำผิด จากเดิมกำหนดว่าเด็กอายุไม่เกิน 10 ปีกระทำผิดไม่ต้องรับโทษ เปลี่ยนเป็น เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ โดยอ้างอิงเหตุผลทางการแพทย์ที่ว่าเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี การเจริญเติบโต ความรู้สึกผิดชอบยังไม่เต็มที่ อีกทั้งเป็นการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ คือ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child -CRC) ที่ประเทศไทยลงนามเป็นภาคีเมื่อปี 2535.