สืบเนื่องจากกรณีเด็กชายอายุ 14 ปี ก่อเหตุบุกยิงประชาชนกลางห้างสรรพสินค้า สยามพารากอน มีผู้บาดเจ็บหลายราย และเสียชีวิต 2 ราย เบื้องต้นตำรวจได้ดำเนินคดีกับเยาวชนรายดังกล่าวทั้งหมด 5 ข้อหา ได้แก่ ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, พยายามฆ่า, มีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, พกพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต, และยิงปืนในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงขณะนี้เด็กชายผู้ก่อเหตุอยู่ระหว่างการฝากขังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาว่าจะได้รับการประกันตัวหรือไม่ ตามที่ได้มีการรายงานข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่ กระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ขณะนี้ผู้ก่อเหตุอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล โดยสถานพินิจต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลและได้เตรียมความพร้อมรับตัวเยาวชน 14 ปีรายดังกล่าว ซึ่งกฎหมายเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน มีหลักการต้องปฏิบัติโดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนกรณีตำรวจได้มีการระบุว่าเด็กคนดังกล่าวเคยมีประวัติการรักษาจิตเวช รพ.ราชวิถี จะเป็นเงื่อนไขรับตัวเข้าสถานพินิจหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับศาลใช้ดุลพินิจมีคำสั่งจะให้ส่งตัวมาบำบัดฟื้นฟูรักษาในสถานพินิจหรือไม่ โดยสถานพินิจมีโปรแกรมพัฒนาพฤตินิสัยเพื่อให้ความประพฤติเด็กกลับมาดีขึ้น ทั้งนี้ ตนขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเคยมีเด็กที่อยู่ในการควบคุมของสถานพินิจที่มีประวัติการรักษาจิตเวช ซึ่งจะมีโปรแกรมบำบัดฟื้นฟูหลายโปรแกรม รวมทั้งมีแพทย์และนักจิตวิทยาเข้ามาช่วยดูแลปรับเปลี่ยนเรื่องจิตเวชได้ นอกจากนี้ พ่อแม่ของเด็กผู้ก่อเหตุอาจจะขอรับไปรักษาแพทย์ข้างนอกเองได้

ขณะที่กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ระบุว่า ขณะนี้เด็กอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบการจับกุมของศาลเยาวชนและครอบบครัวกลาง เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนดังกล่าวแล้วจะเข้าสู่การดำเนินการของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน โดยสถานพินิจฯ จะเป็นหน่วยงานดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชนต่อไป ซึ่งวิธีการดำเนินการนั้นจะใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแบบผู้ใหญ่ สถานพินิจฯ จะทำการค้นหาและรวบรวมข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับเด็กและจัดให้มีการคุ้มครองด้วยวิธีที่เหมาะสม ในกรณีที่เด็กได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จะมีการส่งมอบเด็กให้กับผู้ปกครอง และให้ผู้ปกครองพาเด็กไปพบเจ้าพนักงานพินิจของสถานพินิจฯ เพื่อทำหน้าที่สืบเสาะข้อเท็จจริงและแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุของการกระทำผิด และรายงานต่อศาลเพื่อประกอบการพิจารณา หากกรณีเด็กไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เด็กจะถูกส่งไปควบคุมตัวที่สถานพินิจฯ ระหว่างควบคุมตัวหากประเมินแล้วพบว่าเด็กมีปัญหาสุขภาพกาย หรือสุขภาพจิต อันเป็นการไม่เหมาะสมต่อการควบคุมดูแลในสถานควบคุม สถานพินิจฯ จะรายงานต่อศาลเพื่อประกอบการพิจารณาการควบคุมตัว และวิธีการดำเนินการที่เหมาะสมกับเด็กในระหว่างรอการพิจารณาคดี

กรมพินิจฯ ระบุอีกว่า สำหรับการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัว และส่งต่อภาพที่มีการเปิดเผยอัตลักษณ์ของเด็กที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดนั้น กรมพินิจฯ ขอความร่วมมือหยุดเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัว อันเป็นการกระทำการละเมิดกฎหมาย ทั้งยังขัดต่อหลักอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ซึ่งมีโทษระวางจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.