บรรยากาศกิจกรรมทำ “โพลเดลินิวส์ X มติชน :รัฐบาลเศรษฐา ควรแก้ปัญหาอะไร” ยังคงได้รับความสนใจจากประชาชนหลากหลายกลุ่ม เป็นการโหวตผ่านช่องทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มของสื่อเครือเดลินิวส์และมติชน เปิดโหวตเริ่มตั้งแต่วันที่ 1-31 ตุลาคม 2566 โดยสามารถโหวตโพลได้ผ่านทาง “คิวอาร์โค้ด” ที่อยู่ในหนังสือพิมพ์ รวมไปถึงโหวตผ่านคิวอาร์โค้ดและลิงก์ในช่องทางออนไลน์ เว็บไซต์, เฟซบุ๊ก, เอ็กซ์ (ทวิตเตอร์), ยูทูบ, อินสตาแกรม และติ๊กต็อก ของสื่อในเครือเดลินิวส์และมติชน ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเป็นอย่างมาก นั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 5 ต.ค. นายภานุเดช ไชยสกูล นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ตามความคิดเห็นของตน โพล เดลินิวส์ X มติชน ที่ร่วมกันจัดทำขึ้น นับว่าตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนเป็นอย่างมาก ครอบคลุมเนื้อหาโดยเฉพาะ 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือการแก้ปัญหาปรับโครงสร้างทางการเมือง และปัญหาปากท้องของประชาชน เพราะเป็นการสะท้อนปัญหาและความคิดเห็นที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไข ที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งระบบให้ดีขึ้น เนื่องจากปัญหาต่างๆ ของประชาชนในระดับรากหญ้ามีความแตกต่าง โดยเฉพาะพืชผลการเกษตร การท่องเที่ยว หรือความเป็นอยู่ ความเดือดร้อนของประชาชนในแต่ละพื้นที่ รัฐบาลอาจจะเข้าไม่ถึง หากมีการสำรวจความคิดเห็น ความต้องการ ก็จะทำให้รัฐบาลนำไปแก้ไข และเข้ามาช่วยเหลือได้

นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวต่อว่า สำหรับจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง การจะเดินทางโดยรถยนต์เข้าสู่จังหวัดค่อนข้างจะยากลำบาก และปัญหาหลักใหญ่ ๆ ของแม่ฮ่องสอน คือราคาน้ำมันสูง แพงกว่าจังหวัดอื่น แพงกว่าเชียงใหม่ 60 สตางค์ต่อลิตร อยากให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาราคาน้ำมันให้ถูกลง

ทั้งนี้ นายภานุเดช ขอฝากไปยังพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ เข้าไปตอบคำถามของโพล เดลินิวส์ X มติชน เพื่อรัฐบาลจะได้นำไปแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และความเป็นอยู่ให้กับประชาชนอย่างเร่งด่วน

ด้าน นายเฉลิมพล สุทธจรรยา ชาวบ้านหนองคาย กล่าวถึงโพล เดลินิวส์ X มติชน ว่า ตนอยากให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา เศรษฐกิจ ปากท้องของพี่น้องประชาชน ต้องมาก่อน เน้นลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้ ให้พี่น้องประชาชน จากนั้นก็อยากให้แก้ไขปัญหาเรื่องการเมืองทุกด้านควบคู่กับเศรษฐกิจ

ท้ายสุด ตนอยากเชิญชวนประชาชนให้มาร่วมทำโพล อยากให้ทุกคนมาสนใจการเมือง เพื่อประโยชน์ของตัวเราเอง อยากให้ทุกคนเข้ามาช่วยโหวตโพล

คลิกโหวต>>https://www.dailynews.co.th/polls/srettha-government-2023/?utm_source=website&utm_medium=dailynewsonline&utm_campaign=srettha-government-2023<<

นายณัฐวุฒิ แสงศรีคำ นายกองค์กรบริหารส่วนตำบลกระดังงา อ.สะทิงพระ จ.สงขลา และ รองเลขานุการสมาคม อบต.แห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงการเข้ามาบริการประเทศของ รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ว่า เรื่องแรกที่ต้องเร่งดำเนินการให้เป็นผลสำเร็จ คือเรื่องเศรษฐกิจ เพื่อประชาชนเชื่อมั่นว่า รัฐบาลนี้มีความสามารถในเรื่องปัญหาเศรษบกิจมากกว่ารัฐบาลที่ผ่านมา หรือเป็น “มืออาชีพ” ประชาชนจึงตั้งความหวังไว้สูง เช่น ต้องการเห็นราคายางพาราที่มีราคาสูงขึ้น รวมทั้งพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ รวมทั้งต้องทำให้ราคาสินค้าถูกลง หรือไม่ขึ้นราคา ที่สวนทางกับรายได้ของประชาชน และเข้าไปดูในเรื่องของพลังงาน น้ำมัน ไฟฟ้า โดยเฉพาะเรื่องของไฟฟ้า ที่วันนี้ กฟผ. ผลิตเอง 30% และเอกชนผลิตขายให้ กฟผ. 70 % เอกชนผู้ผลิตมีกำไร แห่มาลงทุนเรื่องพลังงานขายให้รัฐ แต่ประชาชนแบกรับราคาไฟฟ้าที่แพงและซับซ้อนในการคิดค่าไฟฟ้า เรื่องนี้รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ

เรื่องของท้องถิ่น การปฏิรูปโครงสร้างของท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาล ที่ในการหาเสียงหลายพรรคการเมืองชูประเด็นการปฏิรูปการบริหารท้องถิ่น หรือการเมืองระดับล่าง ที่ท้องถิ่นยังไม่ได้รับความเท่าเทียมในหลายเรื่อง วันนี้ท้องถิ่นมีมีอำนาจ มีหน้าที่ แต่งบประมาณไม่เป็นไปตามที่กฎหมายการกระจายอำนาจให้ไว้ เพราะได้งบประมาณไม่ถึง 35% แต่ได้เพียง 26-28% ทำให้การพัฒนาท้องถิ่นเป็นไปด้วยความล่าช้า ไม่เป็นไปตามความต้องการของประชาชน ท้องถิ่นใหญ่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรม มีห้างร้าน มีศูนย์การค้าใหญ่โตในพื้นที่อยู่ได้ พัฒนาได้ แต่ท้องถิ่นขนาดเล็กที่ไม่มีการลงทุน และอยู่ห่างไกลตัวเมือง อยู่ด้วยความลำบากเพราะไม่มีงบประมาณในการพัฒนา และที่ต้องแก้ไขคือ ศูนย์การค้าใหญ่โต ที่ตั้งอยู่ในท้องถิ่น และคนในท้องถิ่นเป็นผู้ซื้อ เป็นผู้ใช้จ่าย แต่เงินภาษีกลับไปจ่ายให้ส่วนกลาง ตรงนี้ต้องแก้ไข เพื่อให้มีความเป็นธรรมกับท้องถิ่น

สุดท้ายเห็นว่า ต้องมีการปฏิรูปในเรื่องการปกครองท้องถิ่น ด้วยการยุบองค์การบริหารส่วนจังหวัด ( อบจ.) เพราะ อบจ. ไม่มีพื้นที่ในการพัฒนา เพราะพื้นที่ของการปกครองท้องถิ่น เป็นเรื่องของเทศบาล และ อบต. ดังนั้นงบประมาณของ อบจ. จึงต้องตัดให้กับ เทศบาล และ อบต. เพื่อใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นที่ตรงเป้าหมาย.