นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. เปิดเผยว่า ปตท. ได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการลดค่าไฟฟ้าช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค. เหลือหน่วยละ 3.99 บาท เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้แก่ประชาชน โดยในส่วนของ ปตท. ได้เลื่อนการรับชำระค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ที่จำหน่ายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในงวดนี้ไปก่อนวงเงินประมาณ 8,000-9,000 ล้านบาท อาจมีภาระเพิ่มจากต้นทุนการเงินบ้าง แต่เป็นวงเงินไม่มาก ไม่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการอย่างมีนัยสำคัญ เพราะคาดว่า กฟผ. จะทยอยชำระคืนในงวดถัดไป และหากราคาเชื้อเพลิงลดลงอีกในอนาคต ค่าเชื้อเพลิงเหล่านี้ก็จะลดลงเป็นผลดีต่อประชาชน

ส่วนแนวโน้มผลประกอบการช่วงครึ่งหลังปีนี้ คาดว่า จะปรับเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก จากราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 66 ขณะที่ค่าการกลั่นยังทรงตัวในระดับที่ดี แม้ว่าจะต่ำกว่าปี 65 แต่นับว่าดีกว่าช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งผลประกอบการของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ผูกกับราคาน้ำมัน ทำให้ผลประกอบการยังเติบโตขึ้น โดยยอดขายของ ปตท. ในปีนี้ คาดปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน มาจากภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เพราะในปี 65 ยังมีโควิด แต่ปีนี้โควิดไม่เต็มปี ส่งผลให้ยอดขายปีนี้สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนค่าการตลาดผู้ค้าน้ำมัน ที่ภาครัฐเตรียมกำหนดให้ไม่เกินลิตรละ 2 บาท กรณีนี้ทาง บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือโออาร์ พร้อมร่วมมือ และให้ข้อมูลกับกระทรวงพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมาค่าการตลาดของโออาร์ไม่ถึงลิตรละ 2 บาท แต่ข้อมูลที่แตกต่างจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) โดยระบุว่า ค่าการตลาดสูงกว่าลิตรละ 2 บาท เพราะฐานข้อมูลแตกต่างกัน ทาง สนพ. ใช้ข้อมูลอ้างอิงน้ำมันของสิงคโปร์ที่ไม่มีข้อมูลมาตรฐานยูโร 4 แต่ของโออาร์ใช้ข้อมูลยูโร 4 จากราคาหน้าโรงกลั่นฯ ซึ่งในต้นปี 67 มาตรฐานน้ำมันไทยจะเป็นยูโร 5 การอ้างอิงราคาของผู้ค้าน้ำมันและ สนพ. ก็จะตรงกัน

สำหรับภาพรวมทิศทางการดำเนินธุรกิจปีนี้ ยังเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะธุรกิจก๊าซ หลัง ปตท.สผ. สามารถเข้าพื้นที่แปลง จี 1/61(เอราวัณ) สามารถผลิตก๊าซเพิ่มขึ้นจาก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และตามแผนจะเพิ่มเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในเดือน เม.ย. 67 ขณะเดียวกันเทอมินอลแอลเอ็นจี แห่งที่ 2 ขนาด 7.5 ล้านตัน ก็เสร็จตามแผน ส่งผลให้ปัจจุบันสามารถรองรับแอลเอ็นจี รวม 19 ล้านตัน ส่วนธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของกลุ่ม ปตท. สามารถทำได้ดีกว่าแผน ปัจจุบัน กำลังการผลิตทั้งในและต่างประเทศรวมกว่า 3,000 เมกะวัตต์ ดังนั้น ปตท. ได้ปรับเป้ากำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจากเดิมตั้งเป้า 12 กิกะวัตต์ เพิ่มเป็น 15 กิกะวัตต์ ภายในปี 73