รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่า ในวันที่ 29 ก.ย.64 รฟท. จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟท. พิจารณาอนุมัติการสั่งจ้างผู้ชนะการประกวดราคา(ประมูล)โครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 7.29 หมื่นล้านบาท จำนวน 3 สัญญา และโครงการรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงินก่อสร้าง 5.54 หมื่นล้านบาท จำนวน 2 สัญญา โดยการอนุมัติสั่งจ้างดังกล่าวอยู่ภายใต้เงื่อนไขให้รอผลการพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบการประกวดราคาก่อสร้างทางรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสาน ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้น 7 คนออกมาก่อน

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า รฟท. ได้เข้าชี้แจงข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ในการดำเนินโครงการฯ ให้คณะกรรมการดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว เบื้องต้นมีสัญญาณที่ดีว่าทั้ง 2 โครงการจะได้เดินหน้าโครงการต่อไป ทั้งนี้ที่ผ่านมา รฟท. ได้ดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ของการประมูลคู่ขนานไปกับการตรวจสอบความโปร่งใสของคณะกรรมการตรวจสอบการประกวดราคาก่อสร้างฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้เริ่มลงพื้นที่ประชุมร่วมกับชาวบ้าน และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดินแล้ว แต่เริ่มได้เฉพาะในส่วนของสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของก่อน เนื่องจากในขณะนั้นสายบ้านไผ่-นครพนม ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.) กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน จึงไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้อย่างเต็มรูปแบบ เพราะจะผิดกฎหมายได้

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในพื้นที่บางส่วนในท้องที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น อำเภอกุดรัง อำเภอบรบือ อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม อำเภอศรีสมเด็จ อำเภอเมืองร้อยเอ็ด อำเภอจังหาร อำเภอเชียงขวัญ อำเภอโพธิ์ชัย อำเภอโพนทอง อำเภอเมยวดี อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร อำเภอนิคมคำสร้อย อำเภอเมืองมุกดาหาร อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร และอำเภอธาตุพนม อำเภอเรณูนคร อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม พ.ศ.2564 แล้ว

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า ที่ดินที่จะเวนคืนดังกล่าวจะนำไปใช้ในการสร้างทางรถไฟ เครื่องประกอบทางรถไฟ ทาง และสิ่งจำเป็นอื่นตามโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม โดย พ.ร.ฎ.ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันถัดไปหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้มีผลใช้บังคับได้ 4 ปี พร้อมทั้งมอบให้ รฟท. เป็นเจ้าหน้าที่ในการเวนคืน และให้เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนตาม พ.ร.ฎ.นี้ ภายใน 120 วันนับแต่วันที่ พ.ร.ฎ.นี้มีผลใช้บังคับ อย่างไรก็ตามสำหรับสายบ้านไผ่-นครพนม มีพื้นที่ในจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร และนครพนม ที่จะถูกเวนคืนที่ดินรวม 17,872 ไร่ 8,087 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 930 หลัง และไม้ยืนต้น 1,491 ไร่ ใช้งบประมาณในการเวนคืนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ยอมรับว่าขณะนี้ภาพรวมการดำเนินงานทั้ง 2 โครงการล่าช้าไปจากแผนงานที่วางไว้แล้วประมาณ 3 เดือน แต่ยังสามารถปรับแผนงานให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่วางไว้ได้ โดยโครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 6 ปี แล้วเสร็จและเปิดให้บริการปี 71 ขณะที่สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม เนื่องจาก พ.ร.ฎ.เวนคืนฯ เพิ่งประกาศและมีผลบังคับใช้ คาดว่าจะเวนที่ดินแล้วเสร็จ และทยอยมอบพื้นที่ก่อสร้างให้กับผู้รับจ้างได้ภายใน ส.ค.67 โดยจะได้ที่ดินแปลงแรกประมาณเดือน ม.ค.66 ซึ่งผู้รับจ้างสามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ มีระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี คาดว่าก่อสร้างแล้วเสร็จ และพร้อมเปิดให้บริการในปี 71.