วันที่ 17 ต.ค. นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ปี 67 ภาคการส่งออกกลับมาบวกได้ 3.6% เมื่อเทียบปี 66 ด้วยมูลค่า 291,773 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากปีหน้าจะเห็นภาพเศรษฐกิจโลกค่อยๆ ดีขึ้น โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลัง และภาคการส่งออกจะเป็นพระรองช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ขณะที่พระเอกเศรษฐกิจปีหน้า คือ เงินที่เข้าสู่ระบบจากนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต ของรัฐบาล คาดว่า จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยปีหน้าขยายตัวได้ 4.5-5%

ธนวรรธน์ พลวิชัย

ส่วนสถานการณ์ส่งออกสินค้าไทยไตรมาส 4 ปี 66 มีโอกาสพลิกกลับมาบวกได้สูงถึง 6.8% ในไตรมาส 4 ปีนี้ ด้วยมูลค่า 70,502 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากไตรมาส 3 ที่คาดติดลบ 3.2% มูลค่า 69,920 ล้านดอลลาร์ และช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ปี 66 ติดลบแล้ว 4.52% มูลค่า 187,593 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังไม่มีแรงส่งเพียงพอให้ทั้งปี 66 กลับมาบวกได้ คาดว่า ทั้งปี 66 จะมีมูลค่า 281,593 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 2% เทียบกับปี 65 ที่ขยายตัว 5.5%

นายพูนทวี ชัยวิจิตมลากูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สาเหตุที่ส่งออกไทยไตรมาส 4 ขยายตัว 6.8% มาจากปัจจัยสนับสนุน คือ เงินเฟ้อไทยต่ำกว่าคู่แข่ง และค่าเงินบาทอ่อนค่ากว่าคู่แข่ง สะท้อนถึงความสามารถแข่งขันด้านราคา, ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในตลาดสำคัญ ทั้งสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลดีต่อคำสั่งซื้อสินค้าไทย, นโยบายเร่งผลักดันส่งออกของไทย แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากดอกเบี้ยทั่วโลกยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอ, ราคาสินค้าส่งออกของไทยสูงกว่าคู่แข่ง จากต้นทุนการผลิตไทยสูง, เอลนีโญ ที่กระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตร

พูนทวี ชัยวิจิตมลากูล

ขณะที่ปี 67 คาดส่งออกไทยจะกลับมาบวกได้ 3.6% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยทั่วโลกชะลอลง รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกเพิ่มฟื้นตัวดีขึ้น ทั้งในตลาดสำคัญอย่างสหรัฐ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น อาเซียน ส่งผลให้ความต้องการซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น และนโยบายผลักดันการส่งออกของไทย แต่ยังต้องระวังปัจจัยเสี่ยง คือ ดอกเบี้ยโลกที่แม้ลดลง แต่ยังอยู่ในระดับสูงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เอลนีโญทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง ราคาส่งออกสูงขึ้น ค่าเงินบาทคาดจะแข็งค่าขึ้นจากการลดดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐในปี 67 ราคาน้ำมันสูง ผลักดันให้ต้นทุนผลิตสินค้า และราคาสินค้าส่งออกไทยสูงขึ้น รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

“การสู้รบของอิสราเอลและฮามาส กระทบต่อการส่งออกของไทยน้อยมาก ประเมินว่า กรณีการสู้รบไม่ยืดเยื้อ ส่งออกไทยลดลงเพียง 0.1% มูลค่าหายไป 369 ล้านดอลลาร์ แต่ถ้ายืดเยื้อ และปิดเส้นทางขนส่งสินค้า ส่งออกไทยลดลง 0.3% มูลค่า 850 ล้านดอลลาร์ และหากขยายวงกว้างไปทั่วตะวันออกกลาง ส่งออกไทยลดลง 1.7% มูลค่า 4,769 ล้านดอลลาร์ แต่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยกว่า 5%”