จากเหตุการณ์เด็กชายวัย 14 ก่อเหตุใช้อาวุธปืนกราดยิงภายในห้างพารากอน มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย ก่อน ร.ต.อ.ธัญอมร หนูนารถ รอง สว.สส.ปฏิบัติหน้าที่ รอง สวป.สน.ปทุมวัน ที่เข้าระงับเหตุจับคนร้ายไว้ได้

ด้วยความมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่อันเป็นต้นแบบที่ดีของตำรวจ ดังนั้น เพื่อยกย่องข้าราชการตำรวจ ที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น สร้างคุณประโยชน์ให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สังคม และประเทศชาติ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้มอบ “แหวนอัศวิน” ให้ เพื่อยกย่องการปฏิบัติหน้าที่ด้วยจิตวิญญาณของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ สืบต่อประเพณี

สำหรับความเป็นมาของ “แหวนอัศวิน” สืบเนื่องจาก พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ต้องการจะมอบรางวัลให้กับข้าราชการตำรวจ ที่ทำงานเสี่ยงตาย ทำชื่อเสียงในด้านปราบปราม และงานอื่น อันเป็นประโยชน์ต่อทางราชการตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายภูธร หรือฝ่ายนครบาล จึงได้มอบเป็นแหวนทองลงยา ที่หัวแหวนเป็นตราหน้าหมวกตำรวจสีแดง โดย พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ได้ตั้งชื่อแหวนนี้ว่า “แหวนอัศวิน”

ทั้งนี้ “แหวนอัศวิน” ถือเป็นของอันทรงเกียรติ ที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับข้าราชการตำรวจที่ได้รับ และเป็นประเพณีที่สืบต่อกันมา อีกทั้ง ผบ.ตร. มีแนวคิดที่จะรื้อฟื้นประเพณีการมอบ “แหวนอัศวิน” เพื่อยกย่องข้าราชการตำรวจที่มีผลการปฏิบัติงานโดดเด่นและสร้างคุณประโยชน์ให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สังคม และประเทศชาติ จนเป็นที่ประจักษ์ ตามแนวทางของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ให้กลับคืนมาอีกครั้ง เพราะการ “เชิดชูคุณความดีตอนมีชีวิตดีที่สุด” ซึ่ง พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจคนที่ 14 และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็น ผบ.ตร.คนที่ 14 เช่นเดียวกัน

โดย “แหวนอัศวิน” วงแรกมอบให้ ร.ต.อ.ธัญอมร หนูนารถ ได้ปฏิบัติหน้าที่ ด้วยจิตวิญญาณของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ จนสามารถหยุดสถานการณ์ได้อย่างเรียบร้อย จากเหตุการณ์ในวันที่ 3 ต.ค. 2566 เพื่อเป็นเกียรติแก่ ร.ต.อ.ธัญอมร และครอบครัว