เมื่อวันที่ 17 ก.ย. นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ชี้แจงข้อเท็จจริงทางคดีเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ผ่านระบบ Zoom ว่า การฟ้องคดีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มโดยบริษัทเอกชนรายหนึ่ง มีทั้งหมด 3 คดี ประกอบด้วย 1. คดีดำหมายเลขที่ 2280/2563 ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลางที่จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์ร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้นจึงไม่มีประเด็นพิพาทเกี่ยวกับการเพิกถอนหลักเกณฑ์อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองอีกต่อไป คงเหลือแต่ข้อหาที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ชดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดจำนวน 500,000 บาทเท่านั้น

นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า 2. คดีหมายเลขดำที่ 580/2564 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลางที่ไม่รับคำฟ้องข้อหาเกี่ยวกับการการกระทำละเมิด และคำขอห้ามมิให้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ รฟม. กระทำการหรือดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนในโครงการพิพาทครั้งใหม่ไว้พิจารณา ดังนั้นจึงไม่มีประเด็นพิพาทเกี่ยวกับการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในครั้งใหม่อีกต่อไป เหลือแต่ข้อหาที่ผู้ฟ้องคดีขอให้เพิกถอน หรือยกเลิกมติหรือประกาศที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการนี้เท่านั้น

นายภคพงศ์ กล่าวอีกว่า และ 3.คดีหมายเลขดำที่ อท.30/2564 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้นัดพร้อมเพื่อกำหนดพยาน และกำหนดประเด็นในชั้นไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 25 ต.ค.64 จากนั้นเมื่อมีการกำหนดประเด็นแล้ว ศาลจึงจะนัดไต่สวนมูลฟ้องคดีดังกล่าวต่อไป ดังนั้นปัจจุบันคดีนี้ศาลจึงเพียงแต่รับคำฟ้องของโจทก์ไว้ไต่สวนมูลฟ้องเท่านั้น ยังมิได้มีการรับฟ้องคดีดังกล่าวไว้พิจารณาแต่อย่างใด รฟม. จึงขอยืนยันว่า การดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ยังเดินหน้าได้ตามปกติ ซึ่งในส่วนของคดีอาญาฯ นั้น ไม่ได้รู้สึกหนักใจ ยืนยันได้ว่าการดำเนินการคัดเลือกฯ ทั้งครั้งแรก และครั้งใหม่เป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการทางกฎหมาย รวมถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมติคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนกำหนดได้อย่างครบถ้วน

นายภคพงศ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับแผนการคัดเลือกเอกชนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น ในสัปดาห์หน้าคณะกรรมการ ม.36 จะมีการพิจารณาเอกสารหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal Document : RFP) คาดว่าจะเปิดจำหน่ายเอกสาร RFP ได้ในเดือน ต.ค.64 กำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในเดือน ธ.ค.64 ประเมินข้อเสนอเดือน ม.ค.-มี.ค.65 และจะเจรจาต่อรองให้ได้ข้อยุติภายในเดือน มี.ค.65 ก่อนจะเสนอผลการคัดเลือกให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาเห็นชอบต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ รฟม.จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างช่วงตะวันตก ติดตั้งจัดหาระบบรถไฟฟ้าทั้งหมด และรับสัมปทานเดินรถตลอดเส้นทาง 35.9 กิโลเมตร (กม.) ระยะเวลา 30 ปี วงเงินรวมประมาณ 1.2 แสนล้านบาท  มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร (กม.) แบ่งเป็น ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ–มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กม.จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์–ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กม. จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) คาดว่าจะสามารถเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออกได้ต้นปี 68 และเปิดให้บริการส่วนตะวันตกได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 70