เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 20 ต.ค. ที่ ห้องรับรองกรมสอบสวนคดีพิเศษ ชั้น 2 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ อาคารเอ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้นางพิชญา ธารากรสันติ โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย พ.ต.ท.ยุทธนา ตั้งกอบลาภ รองผู้อำนวยการกองคดีทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมกันแถลงผลการจับกุมในกรณีผู้ค้าแบรนด์เนมปลอมรายใหญ่ในจังหวัดภูเก็ต

โดย พ.ต.ท.ยุทธนา ตั้งกอบลาภ รองผู้อำนวยการกองคดีทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับการร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมายังจังหวัดท่องเที่ยวของประเทศไทย และถูกหลอกลวงให้ซื้อสินค้าปลอม ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยว และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทยในระดับสากล ทำให้เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมา ร.ต.อ.พลสัณห์ เทิดสงวน ผอ.กองคดีทรัพย์สินทางปัญญา น.ส.จารุวรรณ ครุสาตะ ผอ.ส่วนคดีทรัพย์สินทางปัญญา 1 พร้อมเจ้าหน้าที่กองคดีทรัพย์สินทางปัญญาและเจ้าหน้าที่กองปฏิบัติการพิเศษ ร่วมกันนำหมายค้นศาลจังหวัดภูเก็ต จำนวน 3 หมาย เข้าค้นพื้นที่ 3 จุด ในพื้นที่ ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เจ้าหน้าที่กองคดีทรัพย์สินทางปัญญาได้ทำการตรวจค้นโกดังที่มีการดัดแปลงเป็นห้องลับสำหรับซุกซ่อนสินค้าประเภทกระเป๋า นาฬิกา รองเท้า น้ำหอม ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาไว้สำหรับจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเท่านั้น

สำหรับผลการตรวจค้นพบของกลาง พ.ต.ท.ยุทธนา กล่าวว่า พบสินค้าประเภทกระเป๋า นาฬิกา เสื้อผ้า ฯลฯ ปลอมเครื่องหมายการค้า หลุยส์วิตตอง (Louis Vuitton) ดิออร์ (Dior) แอร์เมส (Hermes) แท็ก ฮอยเออร์ (Tag Heuer) กุชชี่ (Gucci) โรเล็กซ์ (Rolex) ไนกี้ (Nike) คาร์เทียร์ (Cartier) เป็นต้น อยู่ภายในห้องลับ เป็นจำนวนกว่า 4,500 ชิ้น เป็นสินค้าเกรด A จำหน่ายอยู่ที่ราคาชิ้นละ 2,000-3,000 บาท มูลค่าความเสียหายเกินกว่า 7 ล้านบาท เมื่อผู้เสียหายได้ชี้ยืนยัน เจ้าหน้าที่จึงได้ยึดสินค้าทั้งหมดนำมาตรวจสอบ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดความผิด โดยในการตรวจค้นครั้งนี้ มีตัวแทนบริษัท หลุยส์ วิตตอง มาเลอติเย เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย

พ.ต.ท.ยุทธนา กล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาซื้อสินค้าผิดลิขสิทธิ์นี้ ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะมาซื้อโดยเฉพาะ แต่เป็นนักท่องเที่ยวที่โดนหลอกให้เข้าไปซื้อสินค้า ซึ่งก็จะมีสินค้าบางรายการที่ผู้เสียหายบางคนอาจจะทราบเพราะเป็นของปลอมและเข้ามาซื้อ แต่จะไม่มีส่วนรับความผิดด้วย จะมีเพียงผู้จำหน่ายเท่านั้น ที่จะมีโทษจากการจำหน่ายสินค้าผิดลิขสิทธิ์เท่านั้น เบื้องต้นจับกุมได้แล้ว 1 ราย ซึ่งเป็นเจ้าของทั้ง 3 จุดเป้าหมายที่ดีเอสไอเข้าตรวจค้น ส่วนพฤติการณ์ของผู้จำหน่าย ทราบว่ามีการค้าขายมาหลายปีแล้ว โดยด้านหน้าจะเปิดเป็นร้านค้าขายกระเป๋าทั่วไป (ของปลอม แต่จำนวนไม่มาก) ส่วนด้านหลังร้านจะมีสินค้าที่ปลอมแปลงแบรนด์เนมจัดวางไว้อยู่ และไม่มีการขายออนไลน์ แต่ได้มีผู้เสียหายที่เข้าไปซื้อและพูดคุยกับเจ้าของร้าน จนเจ้าของร้านเชื่อใจ จึงพาเข้าไปที่ด้านใน ซึ่งจะห้ามไม่ให้คนไทยเข้าไปเด็ดขาด โดยใช้คีย์การ์ดเปิดเข้าไป ยืนยันว่า ณ ขณะนี้ ยังพบเพียง 3 จุดดังกล่าว ที่มีการขายสินค้าแบรนด์เนมปลอม แต่เจ้าหน้าที่ก็จะมีการตรวจสอบและขยายผลเพื่อหาความเชื่อมโยงอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ เรื่องเส้นทางการเงินของเจ้าของร้าน อยู่ระหว่างเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบขยายผลเช่นเดียวกัน.