เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สั่งเรียกคืนยารักษาโรคความดันโลหิตสูง “เออบีซาแทน” (Irbesartan) ที่จำหน่ายจากบริษัทผู้ผลิต เนื่องจากยาบางรุ่นการผลิต พบการปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งเอแซดบีทีในวัตถุดิบที่ใช้ผลิตยา เกินเกณฑ์สากลที่ยอมรับ โดยพบว่าในไทย มีอยู่ 42 รุ่นการผลิต 9 รายชื่อผลิตภัณฑ์ จาก 5 บริษัท 

สำหรับรายชื่อผลิตภัณฑ์ที่ถูกเรียกคืน ได้แก่ 1.บริษัท ที.โอ. เคมีคอลส์ (1979) จำกัด มี 2 ตัว คือ TOBISAN 150 รุ่นการผลิต 4307001 และ TOBISAN 300 รุ่นการผลิต 4308001

2.บริษัท สยามเภสัช จำกัด มี 2 ตัว คือ BESANTA TAB 300 MG รวม 5 รุ่นการผลิต คือ 1074950-1, 1074956-1, 1074991-1, 1075108-1 และ 1075181-1 และ BESANTA TAB 150 MG รวม 6 รุ่นการผลิต คือ 1075184-1, 1075196-1, 1075223-1, 1075296-1, 1075311-1 และ 1075338-1

3.บริษัท เอ็ม แอนด์ เอ็ช แมมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด มี 2 ตัว คือ Optima (150 mg) รวม 4 รุ่นการผลิต คือ 43BRC, 53AHN, 53ARZ และ 53BLB และ Optima (300 mg) รวม 2 รุ่นการผลิต คือ 43BNR และ 53BBX

4.องค์การเภสัชกรรม มี 1 ตัว คือ IRBESARTAN GPO (300 MG) จำนวน 3 รุ่นการผลิต คือ A650197 , A650681 และ A660341

และ 5.บริษัท เภสัชกรรมศรีประสิทธิ์ จำกัด มี 2 ตัว คือ BEWEL 150 รวม 2 รุ่นการผลิต 21TG0472 และ 21TG0473 และ BEWEL 300 รวม 18 รุ่นการผลิต คือ 20TG1496, 20TG1497, 20TG1498, 20TG1499, 21TG0127, 21TG0128, 21TG0129, 21TG0130, 21TG0381, 21TG0382, 21TG0383, 21TG0384, 21TG0452, 21TG0453, 21TG0454, 21TG0455, 21TG0514 และ 21TG0515

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเขาธิการสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่รับประทานยารักษาโรคความดันอยู่นั้น ขอให้ตรวจสอบรายการยาที่ตัวเองได้รับไปนั้น อยู่ในรายการที่ถูก อย. เรียกคืนหรือไม่ หากเป็นรายการยาเดียวกัน ขอให้นำยาตัวนั้น ไปติดต่อที่โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลที่ท่านรับยาดังกล่าวมา เพื่อปรึกษาแพทย์และขอเปลี่ยนยาตัวใหม่

ด้าน ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า สำหรับประชาชนที่กังวลกับการเรียกคืนยาดังกล่าว แนะนำว่า เราต้องรู้จักยาที่ตัวเองใช้ก่อน โดยให้ตรวจสอบก่อนว่า ยาความดันที่ตนเองใช้อยู่ คือยี่ห้ออะไร รุ่นการผลิตอะไร โดยให้เช็กข้อมูลกับลิสต์ที่ อย. ประกาศออกมา หรือหากไม่มั่นใจก็ให้ไปพบแพทย์หรือเภสัชกรที่ร้านขายยา เพื่อให้ช่วยตรวจสอบดูได้ หากยาที่รับประทานอยู่ ไม่ใช่ลอตที่ถูกเรียกคืน ก็ไม่ต้องกังวลอะไร สามารถใช้ยานั้นต่อไปได้ แต่หากเป็นยาที่ถูกเรียกคืน ส่วนใหญ่การเรียกคืนมักจะแจ้งไปยัง รพ. หรือร้านยาที่จำหน่ายเรียกคืนกลับไป เพราะฉะนั้น หากเราได้รับยาลอตที่มีการเรียกคืนจริงมาจาก รพ. หรือร้านยา ก็มีสิทธิที่จะไปคืนได้ และรับยาตัวใหม่

“การเปลี่ยนยานั้น ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นยายี่ห้อเดียวกันที่เป็นคนละรุ่นการผลิต หรือหากไม่มั่นใจจริงๆ ก็อาจจะเปลี่ยนยี่ห้อ ซึ่งปัจจุบันยาความดันมีหลากหลาย การเปลี่ยนยี่ห้อยาก็ไม่น่าจะกระทบหรือมีปัญหาต่อการควบคุมความดัน แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องเปลี่ยนไปใช้ยานอกหรือยาราคาแพงขึ้นแต่อย่าใด เพราะยาชื่อสามัญในประเทศหลายยี่ห้อ ก็มีการตรวจชีวสมมูลแล้ว คือ ยาดูดซึมเข้าสู่เลือดได้ปริมาณยาที่เข้มข้นถึงมาตรฐานตามที่กำหนด และผ่านการขึ้นทะเบียน อย. แล้ว อีกทั้งการรับประทานยาสม่ำเสมอ ก็จะช่วยควบคุมสภาพความเข้มข้นของเลือดได้” ผศ.ภญ.นิยดา กล่าว

เมื่อถามถึงประชาชนที่หากรับประทานยาลอตที่มีการปนเปื้อนจริง จะเกิดผลกระทบระยะสั้นหรือระยะยาว หรือต้องเฝ้าระวังอาการใดหรือไม่ ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวว่า โดยทั่วไปสารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในวัตถุดิบจะมีปริมาณไม่มาก เมื่อผลิตเป็นยาและเผลอกินเข้าไป ปริมาณที่รับก็จะไม่ได้มาก อย่างไรก็ตาม ที่กังวลคือยากลุ่มลดความดันนั้น ต้องกินทุกวัน เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยง ไม่มีญาติที่เป็นมะเร็ง ก็อาจไม่ต้องกังวลหรือตกใจจนเกินไป ที่สำคัญคือ ผู้ป่วยที่มีความดันแกว่งหรือสูง ไม่ควรหยุดยาทันที ก็ให้ปรึกษาแพทย์ในการเปลี่ยนเป็นยาตัวใหม่ รวมถึงหากมีความกังวลต่อเรื่องดังกล่าว หากใช้ยาแล้วมีอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ ก็ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรได้ว่ามีอาการอะไร ถ้ามีอาการที่รุนแรงผิดปกติไป ก็จะมีการบันทึกส่งถึง อย. หรือประชาชนก็สามารถแจ้งผ่านอินเทอร์เน็ตถึง อย. ได้เช่นกัน เพื่อรวบรวมผลกระทบจากการใช้ยา

ถามถึงกรณีองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ระบุว่า ที่ผ่านมายากลุ่มลดความดันมีการบังคับตรวจสาร 3 ตัว แต่ไม่มี AZBT ที่เป็นสารอาจก่อมะเร็งมาก่อน ซึ่งการเรียกคืนครั้งนี้ มาจากสารดังกล่าว ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวว่า สมัยก่อนมาตรฐานเกี่ยวกับกลุ่มสาร อาจก่อมะเร็งพวกนี้ไม่ได้มีมากนัก เพิ่งมีมากขึ้นในระยะหลัง ที่เริ่มกังวลเจอตัวนั้นตัวนี้ ตอนขึ้นทะเบียนยาที่ผ่านมา ก็อาจจะไม่ได้มีการกำหนดว่าต้องตรวจ ซึ่งทางสหภาพยุโรป (อียู) หรือประเทศที่พัฒนาแล้วต่างๆ เมื่อมีข้อกังวลในสารเหล่านี้มากขึ้น เขาก็เพิ่มการตรวจมากขึ้นแล้วประกาศออกมา ซึ่งก็มองได้สองมุม คือ ทำให้ประชาชนเกิดความปลอดภัยและมั่นใจ เพราะลดปัจจัยเสี่ยงจากการปนเปื้อนลง แต่ในเชิงฝ่ายผลิตโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ก็อาจไม่เคยตรวจ เมื่อมีการสั่งตรวจ ก็จะเพิ่มต้นทุนมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ผลิตยาชื่อสามัญ

“การเรียกคืนยาจากการตรวจเจอสารดังกล่าวในครั้งนี้ ไม่แน่ใจว่า อย. มีการประกาศเป็นมาตรฐานแล้วหรือไม่ ว่าให้ตรวจสารตัวนี้ก่อนมาขึ้นทะเบียนยา อย่างไรก็ตาม หากจะให้มีการตรวจสารตัวนี้เพิ่มขึ้น อย. ก็ต้องมาพิจารณาว่า ที่ผ่านมาการประกาศเพียง 3 ตัว เพียงพอหรือไม่ จะเพิ่มการตรวจกี่ตัว เพราะต้องยอมรับว่า การตรวจสารกลุ่มอาจก่อมะเร็งก็จะมีมาเรื่อยๆ หากต้องเพิ่มการตรวจ อย. ก็ต้องออกประกาศให้ชัดเจน ต้องแก้ไขทะเบียนเพิ่มประเด็นว่า ให้มีการตรวจสารต่างๆ ตามที่กำหนดก่อนมาขึ้นทะเบียน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่ว่าต่างประเทศเพิ่มเติมการตรวจสารต่างๆ แล้วเราจะเพิ่มเป็นมาตรฐานการตรวจได้ทันที ก็ต้องพิจารณาว่า แล็บของไทยตรวจได้แล้วหรือยัง” ผศ.ภญ.นิยดา กล่าว.