จากกรณีศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง นายอัครกิตติ์ วรโรจน์เจริญเดช หรือ เบนซ์ เรซซิ่ง ในข้อหาสมคบค้ายาเสพติด และได้รับโทษจำคุกในข้อหาฟอกเงินมาแล้วกว่า 4 ปี จากอัตราโทษ 3 ปี 4 เดือน จนมีการตั้งคำถามว่าจะได้รับการชดเชยเยียวยาใดๆ หรือไม่นั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. “ทีมข่าวอาชญากรรมเดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยจากนายธีรยุทธ แก้วสิงห์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ และในฐานะโฆษกกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ระบุว่า พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่สอง) พ.ศ. 2559 นอกจากผู้เสียหายในคดีอาญา (เหยื่อ) จะได้รับค่าเยียวยาชดเชยแล้วนั้น ในการนี้กรณีที่จำเลยในคดีอาญา (หรือแพะ) ก็จะได้รับสิทธิพิจารณาในการขอรับเงินเยียวยาเช่นเดียวกัน โดยสถานที่ที่สามารถยื่นคำขอได้นั้น เช่น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพกระทรวงยุติธรรม เรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ สำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ และจะต้องยื่นคำขอภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง และเมื่อคณะกรรมการพิจารณาเสร็จสิ้น กระทรวงยุติธรรมจะดำเนินการส่งเอกสารคำวินิจฉัย ประทับตราครุฑ ส่งแจ้งผลวินิจฉัยไปให้จำเลยที่ยื่นขอความช่วยเหลือได้รับทราบ ไม่ว่าจะเป็นผลอนุมัติหรือไม่อนุมัติก็ตาม และยังสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน หากไม่เห็นด้วยกับผลวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ

นายธีรยุทธ ระบุว่า สำหรับจำเลยในคดีอาญา คือ บุคคลที่ถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการ หรือถูกคุมขังในระหว่างพิจารณาคดี หรือปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดและมีการถอนฟ้องในระหว่างดำเนินคดี หรือปรากฎตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ส่วนสิทธิที่อาจได้รับ (กรณียังไม่เสียชีวิต) จะได้รับการพิจารณา ดังนี้ 1.ค่าทดแทนการถูกคุมขัง จ่าย 500 บาทต่อวัน (คำนวณจากวันที่ถูกคุมขังตามอัตราโทษที่กฎหมายกำหนด) 2.ค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 40,000 บาท 3.ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพไม่เกิน 50,000 บาท 4.ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ (ตามอัตราจ้างขั้นต่ำในจังหวัดที่ทำงานไม่จำกัดปี) และ 5.ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีไม่ว่าจะเป็นค่าทนายความ (ไม่เกินอัตราที่กำหนด) หรือค่าใช้จ่ายอื่นในการดำเนินคดีไม่เกิน 30,000 บาท ส่วนกรณีที่จำเลยเสียชีวิตไปแล้วนั้น จะได้รับการพิจารณาดังนี้ 1.ค่าทดแทน 100,000 บาท 2.ค่าจัดการศพ 20,000 บาท 3.ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดูไม่เกิน 40,000 บาท และ 4.ค่าความเสียหายอื่นไม่เกิน 40,000 บาท

สำหรับกรณีของนายอัครกิตติ์ หรือ เบนซ์ เรซซิ่ง เจ้าหน้าที่กรมคุ้มครองสิทธิฯ ต้องดำเนินการตรวจสอบเอกสารคำพิพากษาของศาลฎีกาก่อนว่ามีการพิพากษาในกรณีของจำเลยดังกล่าวอย่างไรบ้าง เพราะจะดูเพียงผลท้ายสุดไม่ได้ ต้องย้อนไปดูเนื้อหาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้วจึงประมวลรายละเอียดทั้งหมดว่าเข้าเกณฑ์ได้รับเงินเยียวยาตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนฯ หรือไม่ด้วย ซึ่งรายละเอียดการพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาจะถูกดำเนินการโดยคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนฯ โดยมี ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม กรณีจำเลยในคดีอาญาที่ยื่นขอรับเงินเยียวยาจะค่อนข้างมีรายละเอียดที่ต้องตรวจสอบละเอียดรอบคอบกว่าผู้เสียหายในคดีอาญา เนื่องจากหากเป็นผู้เสียหาย พฤติการณ์จะชัดเจนว่าได้รับผลกระทบ แต่พอเป็นจำเลย คณะกรรมการฯ ต้องไปดูพฤติการณ์ว่าจำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องในความผิดมากน้อยเพียงใด หรือได้รับผลประโยชน์จากความผิดนั้นด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะต้องไปดูในส่วนของศาลที่มีคำพิพากษายกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยว่าเป็นการยกขาว หรือยกเทา ทั้งนี้ ตนยืนยันว่าคณะกรรมการฯ มีการพิจารณาอย่างรอบคอบครบทุกมิติ ให้ความเป็นธรรมทั้งจำเลยและผู้เสียหายในคดีอาญาอย่างแน่นอน.