เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 30 ต.ค. ที่ ห้องแถลงข่าว ชั้น 2 (ห้อง 2-01) อาคารกระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย ดร.ขจร ธนะแพสย์ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย และนายเสกสรร สุขแสง ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม​ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมบังคับคดี ร่วมกันแถลงถึงรายละเอียดปัญหา พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 พร้อมแนวทางการแก้ไขปัญหาลูกหนี้ กยศ. โดยการส่งหนังสือหมายแจ้งจากเจ้าพนักงานบังคับคดีในการขอให้ลูกหนี้ กยศ. เซ็นรับทราบและให้ความยินยอมในการงดการบังคับคดี หรืองดการขายทอดตลาด ซึ่งสามารถติดต่อสำนักงานบังคับคดีทุกแห่งทั่วประเทศ

นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ตามที่กระทรวงยุติธรรม ได้กำหนดโครงการ Quick Win ของแต่ละหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม โดยกรมบังคับคดี ดำเนินการในเรื่องการบังคับคดีเชิงรุก แก้ไขปัญหาหนี้สิน พัฒนากลไกการบังคับใช้กฎหมายในคดีแพ่งผ่านการทำงานของกรมบังคับคดี ซึ่งการแก้ไขปัญหาหนี้ ก.ย.ศ. เป็นหนึ่งในภารกิจของกรมบังคับคดี ที่ต้องเร่งดำเนินการ เนื่องจาก พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 นั้น มีผลต่อการดำเนินงานของกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม เกี่ยวกับการบังคับคดีลูกหนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กองทุนฯ) ที่อยู่ในบังคับคดี เนื่องจาก พ.ร.บ.ดังกล่าวบัญญัติให้กองทุนฯอาจผ่อนผันการชำระหนี้ ระยะเวลาการลดหย่อนหนี้ การชำระคืน ตลอดจนการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ และมีผลต่อลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี หรือมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด หรืออยู่ในระหว่างการบังคับคดี ตามมาตรา 44 พ.ร.บ.กองทุนฯ (ฉบับที่ 2) โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวคณะกรรมการ กองทุนฯ ต้องออกหลักเกณฑ์กำหนดและอยู่ระหว่างดำเนินการของกองทุนฯ แต่เนื่องจากกรมบังคับคดี มีลูกหนี้กองทุนฯ ที่อยู่ระหว่างการบังคับคดีในปัจจุบันเป็นจำนวน 46,000 คดี ทุนทรัพย์ 6,633,172,319.77 บาท แบ่งเป็น คดียึดทรัพย์ จำนวน 22,312 คดี ทุนทรัพย์ 3,156,435,215.75 บาท คดีอายัด จำนวน 23,692 คดี ทุนทรัพย์ 3,476,172,319.77 บาท ซึ่งลูกหนี้ดังกล่าวต้องได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ. กองทุนฯ (ฉบับที่ 2) ด้วยโดยการหักชำระหนี้ต้องนำเงินที่ชำระไปหักต้นเงินเฉพาะส่วนที่ครบกำหนดก่อน ในส่วนของเบี้ยปรับที่ลดลงเหลือ 0.5 ต่อปี และดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี (ตาม พ.ร.บ.กองทุนฯ ฉบับเดิม คิดอัตราเบี้ยปรับไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1 ต่อปี) ตลอดจนการหลุดพ้นของผู้ค้ำประกัน กรมบังคับคดีจึงได้เร่งดำเนินการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ กองทุนฯ ตาม พ.ร.บ.กองทุนฯ (ฉบับที่ 2) และเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

นายสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับข้อกังวลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น เนื่องจากเราได้ส่งหนังสือแจ้งสิทธิประโยชน์ดังกล่าวไปยังภูมิลำเนาของลูกหนี้กว่า 46,000 ราย แต่มีลูกหนี้ที่รับทราบและให้ความยินยอมเข้ารับการงดการบังคับคดีเพียง 109 ราย ซึ่งถ้าหากลูกหนี้ที่เหลือไม่ได้ให้ความยินยอม สิทธิประโยชน์เหล่านี้ก็จะไม่มีผล จึงขอให้ลูกช่วยหนี้ กยศ. ช่วยติดต่อเข้าพบพนักงานกรมบังคับคดี หรือเปิดอ่านจดหมายของกรมบังคับคดี โดยไม่ต้องหวาดกลัว เพราะนี่คือสิทธิประโยชน์ของลูกหนี้ทุกคนและผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ด้วย เพราะผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นทันทีไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ดังนั้น ขอให้ไม่ต้องเป็นกังวลหากได้รับหนังสือดังกล่าว หน้าที่การอธิบายสิทธิประโยชน์จะเป็นของพนักงานกรมบังคับคดีเอง ทั้งนี้ ลูกหนี้จะไปพบเจ้าพนักงานที่ใดก็ได้ อาทิ อาคารกรมบังคับคดี ถนนบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ หรือสำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ ภายในจังหวัดของท่าน และเมื่อท่านเข้าสู่กระบวนการยินยอมนี้แล้ว จึงไปสู่การพูดคุยเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ จะมีการคำนวณคิดยอดชำระหนี้ใหม่ เป็นไปตามกฎหมาย กยศ. ฉบับปัจจุบัน

ขณะที่นายเสกสรร สุขแสง ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม​ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่า การดำเนินการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนี้ 1.คดีที่อยู่ระหว่างประกาศขายทอดตลาดและกองทุนฯ ได้มีหนังสือแจ้งต่อกรมบังคับคดี ของดการบังคับคดี ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการขายทอดตลาดไว้ และมีหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ และผู้มีส่วนได้เสียให้ความยินยอมในการงดการบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2.คดีที่อายัดทรัพย์สิน ให้รอการทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงินไว้ก่อน และกรมบังคับคดีได้แจ้งให้กองทุน ฯ ตรวจสอบและแจ้งยอดหนี้ เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.กองทุน ฯ (ฉบับที่ 2) 3.คดีที่มีการขายทอดตลาด หรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกันไปแล้วทั้งก่อนและหลังวันที่ 20 มีนาคม 2566 กรมบังคับคดีได้ชะลอการจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายไว้ก่อน และขอให้กองทุน ฯ เร่งตรวจสอบยอดหนี้ตาม พ.ร.บ.กองทุนฯ (ฉบับที่ ๒) ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับลูกหนี้ในเรื่องอัตราดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา 4.การดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างกองทุนฯ กับลูกหนี้ เมื่อได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว จะมีผลให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากหนี้ และงดการบังคับคดีตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ และ 5.ในกรณีที่กองทุนฯ จำเป็นต้องบังคับคดีเนื่องจากจะพ้นระยะเวลาการบังคับคดี และลูกหนี้ยังไม่ได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับกองทุนฯ ก่อนการบังคับคดีกองทุนฯ ต้องแถลงภาระหนี้ตาม พ.ร.บ.กองทุนฯ (ฉบับที่ 2)

นายเสกสรร กล่าวอีกว่า จากการหารือร่วมกับกองทุนฯ ซึ่งได้รับแจ้งว่า ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 กองทุนฯ สามารถออกข้อบังคับ หลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไขตาม พ.ร.บ.กองทุนฯ (ฉบับที่2) ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับลูกหนี้กองทุนฯเป็นอย่างมาก ส่วนสิ่งที่ลูกหนี้ต้องดำเนินการ คือ ต้องยื่นหนังสือยินยอมให้งดการบังคัลคดี เพื่อให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในช่องทางต่าง ๆ ดังนี้ ทางเว็บไซต์ website : led.go.th > banner กยศ หรือ ติดต่อที่กรมบังคับคดี สายด่วน 1111 กด 79 หรือติดต่อสำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ หรือส่งหนังสือยินยอมให้งดการบังคับคดี ทาง e- mail ของสำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ

ด้าน ดร.ขจร ธนะแพสย์ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแก้กฎหมาย กยศ. จะทำให้เกิดการคำนวนยอดหนี้ใหม่ที่เป็นธรรม ซึ่งจะลดภาระเงินต้นคงค้าง เช่น นายเอ (นามสมมติ) กู้เงิน กยศ. จำนวน 216,758 บาท (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545-2564) และมีการจ่ายชำระหนี้มาแล้ว 180,500 บาท ปรากฏว่าเงินชำระหนี้ทั้งหมดนั้นถูกนำไปชำระเป็นค่าปรับดอกเบี้ยแต่ไม่ได้มีการหักเงินต้น ทำให้เงินต้นของลูกหนี้รายนีเยังคงค้างอยู่ที่ยอดเดิม แต่ถ้าในกฎหมายนี้เบี้ยปรับและลำดับการตัดชำระหนี้จะเปลี่ยนใหม่ ลูกหนี้รายนี้จะเหลือเงินต้นคงค้างอยู่ที่ 51,964 บาทเท่านั้น โดยเป็นการคำนวณเบี้ยปรับใหม่ด้วยอัตราดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี ทั้งหมดนี้จะทำให้อยู่ในวิสัยที่ลูกหนี้จ่ายคืนได้และเป็นธรรมแก่ลูกหนี้มากขึ้น ซึ่งกรมบังคับคดีจะสามารถคำนวนยอดหนี้ใหม่ได้ ลูกหนี้จะต้องให้ความยินยอม จึงขอให้ลูกหนี้ทุกคนประสานติดต่อมายังกรมบังคับคดี เพื่อปลดล็อคปัญหาหนี้ กยศ.

ดร.ขจร กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ลูกหนี้ต้องการปิดยอดการกู้ยืมเงิน กยศ. ตนขอความร่วมมืออย่าเพิ่งดำเนินการปิด เพราะหากปิดก่อนจะไม่ได้รับการคำนวนยอดหนี้ใหม่ที่เป็นธรรม จึงขอให้ลูกหนี้เข้าพบพนักงานบังคับคดี เพื่อพูดคุยเรื่องยอดหนี้ทั้งหมด และตัวเลขหลังการปรับชำระ แล้วจึงค่อยดำเนินการประสานปิดยอดหนี้ภายหลัง.