เมื่อเวลา 12.30. วันที่ 4 พ.ย. ที่สำนักงานเขตบึงกุ่ม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวภายหลังการประชุมผู้ว่าฯ สัญจรเขตบึงกุ่ม ถึงการเปิดสถานบริการถึงเวลา 04.00 น. ซึ่ง กทม. เป็น 1 ในพื้นที่นำร่องว่า เรื่องการแบ่งโซนนิ่งที่ได้เข้าหารือนายกรัฐมนตรีเมื่อวาน คือการเปิดสถานบริการถึงตี 4 ก็ได้เน้นย้ำว่ายังไม่มีการเปิดสถานบริการทั่วไปถึงตี 4 ปัจจุบันสถานบริการจะมีอยู่ 2 แบบ คือสถานบริการที่ถูกต้องตามกฎหมาย กับสถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ ซึ่งสถานประกอบการทั้งหมดในเขตบึงกุ่ม ไม่มีสถานบริการเลย จะเป็นร้านอาหารที่มีดนตรีและมีขายสุรา แอลกอฮอล์ ร้านเหล่านี้เปิดได้ถึง 01.00 น. ยังไม่ขยายเวลา

ส่วนสถานบริการที่ขยายเวลาจะอยู่ในโซนนิ่ง 3 โซน เช่น สีลม พัฒน์พงศ์, อาร์ซีเอ เพชรบุรีตัดใหม่, รัชดาภิเษก และกลุ่มที่ได้รับใบอนุญาตสถานประกอบการก่อน พ.ร.บ.ตัวนี้ มีประมาณ 200 กว่าแห่งในกรุงเทพฯ เรื่องนี้หากกระทรวงมหาดไทยตกลงก็คงออกเป็นพระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงที่ขยายเวลาให้ถึงตี 4 รวมถึงสถานบริการที่อยู่ในโรงแรมด้วย ซึ่งจะทำให้สามารถดูแลได้ละเอียดขึ้นและไม่กระทบกระเทือนต่อประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ ในภาพรวมสถานประกอบการร้านค้าต่าง ๆ อาทิ ย่านทองหล่อ ยังปิดเวลาเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง ขณะนี้จะเน้นเป็นสถานบริการซึ่งอยู่ในโซนนิ่งก่อนตามที่กฎหมายกำหนด

ขณะที่ พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเสริมว่า กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพ ตาม พ.ร.บ.สถานบริการ ซึ่ง กทม. จะจัดการตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ คือสถานบริการที่มีใบอนุญาตสถานบริการตามมาตรา 3 (1) (2) (3) (4) และ (5) ให้ขยายเวลาถึงตี 4 ส่วนร้านอาหารที่มีดนตรี มีการแสดงดนตรี มีการจำหน่ายสุรา ในที่ประชุมแจ้งว่าอาจจะลดระดับลงมาที่ประมาณตี 2 ในส่วนของกฎหมาย กฎกระทรวง หรือประกาศสำนักนายกฯ ทางฝ่ายรัฐบาลจะเป็นผู้ดำเนินการ กทม. อนุญาตเฉพาะในส่วนของร้านอาหาร สะสมอาหาร จำหน่ายอาหาร และสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ คือ เรื่องการใช้เสียง การแสดงดนตรี ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. ได้สั่งการว่าให้เข้มงวดในเรื่องของการออกใบอนุญาตและใช้ AI ในการควบคุมการประกอบกิจการเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือการเรียกรับผลประโยชน์ในเรื่องของใบอนุญาตสถานบริการ.