นํ้าฝนอาจจะลดลงในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่มีการปลูกข้าวมาก ทำให้ภาคกลาง เหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือมีปัญหานํ้าไม่พอใช้ ในขณะที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมีความต้องการใช้นํ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในด้านคุณภาพของนํ้าประเทศไทยมีปัญหาการปนเปื้อนนํ้าจากภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม และประชากรที่อยู่อาศัยหนาแน่นในพื้นที่ โดยพื้นที่นอกกรุงเทพฯ มีอัตราการบำบัดนํ้าเสียตํ่า นอกจากนี้ความแล้งที่เกิดบ่อยขึ้นทำให้นํ้าเค็มรุกรานแหล่งนํ้าจืดสำคัญเช่น แม่นํ้าเจ้าพระยา ซึ่งปัญหาด้านนํ้าจะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ใช้นํ้าสูงถึง 90.4% ของปริมาณการใช้นํ้าจืดทั้งหมด เทียบกับเวียดนาม 94.8% ลาว 95.9% กัมพูชา 94% และเมียนมา 88.6% เทียบกับค่าเฉลี่ย 70% ทั่วโลก

รายงานยังระบุว่า ประเทศไทยได้ออกพระราชบัญญัติทรัพยากรนํ้า พ.ศ. 2561 ช่วยเชื่อมโยงการบริหารจัดการนํ้าระหว่างหน่วยงานรัฐบาล 48 แห่ง แต่เดิมมีการทำงานและเป้าหมายที่ซํ้าซ้อน และมีการมองบริบทการบริหารจัดการนํ้าที่แตกต่างกัน ต่อมาคณะรัฐมนตรีใด้อนุมัติแผนแม่บทในการบริหารจัดการนํ้าปี 2561-2580 มีเป้าหมายสร้างความมั่นคงทางนํ้า บนการคาดการณ์ที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียจัดทำร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเทศไทย

เปิดจุดอ่อน-จุดแข็งไทย

การวางกลยุทธ์และนโยบายอย่างเป็นระบบ และการปฏิรูปสถาบันที่เกี่ยวข้องในการบริหารนํ้าเป็นจุดแข็งของประเทศไทย แผนวิสัยทัศน์ด้านนํ้าที่เริ่มนำมาใช้ในปี 2543 ทำให้การทำงานระหว่าง 7 กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับนํ้าไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งประเทศไทยมีการตอบสนองอย่างดีต่อภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน

แต่จุดอ่อนคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ยังมีส่วนร่วมได้ไม่ทั่วถึงในกระบวนการปฏิรูปการใช้นํ้าของประเทศ และการวางแผนในระดับลุ่มนํ้ายังกระจัดกระจาย เนื่องจากขาดอำนาจและงบประมาณที่มีไม่เพียงพอ และการประเมินผลของการดำเนินนโยบายอย่างเป็นระบบยังไม่มีคุณภาพพอ

รายงานเสนอแนะให้เพิ่มการสนับสนุนทั้งในด้านการปฏิบัติงานและการเงินแก่คณะกรรมการลุ่มนํ้าซึ่งมีการทำงานที่ยังขาดความเชื่อมโยง ในสถานการณ์ที่มีการแก่งแย่งใช้นํ้าจากภาคส่วนต่าง ๆ ตลอดจนปรับปรุงความร่วมมือระหว่างสถาบัน เพื่อลดการทับซ้อน พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรและประชาชนเข้าถึงนํ้าได้เพียงพอในฤดูแล้ง

ประเทศในเอเชียแปซิฟิกต้องเร่งปรับปรุงการบริหารนํ้า ผ่านความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร เพราะคาดว่าภูมิภาคนี้จะประสบการขาดแคลนนํ้าเพิ่มขึ้น โดยความต้องการนํ้าจะเพิ่มขึ้นมาตามการเติบโตของจำนวนประชากร เศรษฐกิจ และการขยายของเมือง รวมถึงการบริโภคสินค้าทางการเกษตรที่ต้องใช้นํ้ามากในการผลิต เช่น เนื้อสัตว์ และการใช้นํ้าจากภาคบริการในเขตเมือง

นํ้าจืดน้อยปนเปื้อนเยอะ

ฤดูฝนที่สั้นลง หรือมีฝนตกอย่างรุนแรงซึ่งนำไปสู่นํ้าท่วม การปนเปื้อนของระบบสุขอนามัย พืชผลเสียหาย และการเติบโตอย่างรวดเร็วของแพลงก์ตอน บางพื้นที่เกิดฤดูแล้งที่ยาวนานขึ้น นำมาสู่ภัยแล้ง อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นทำให้เกิดการระเหยของนํ้าที่รวดเร็วขึ้น ทำให้มีนํ้าจืดน้อยลงสำหรับการเพาะปลูก การชลประทาน และการบริโภค การเพิ่มขึ้นของระดับนํ้าทะเลทำให้นํ้าเกลือรุกลํ้าเข้ามายังแหล่งนํ้าใต้ดิน

ตามคาดการณ์ของเอฟเอโอ ระบุว่า ทั่วโลกจะมีความต้องการนํ้าจืดที่มากกว่าปริมาณถึง 40% ภายในปี พ.ศ. 2573 สำหรับเอเชีย จากการเพิ่มขึ้นของประชากรและการขยายตัวของเมือง เอฟเอโอประมาณการประชากรมากกว่า 55% จะอาศัยอยู่ในเขตเมือง ทำให้ความต้องการนํ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 55% การใช้นํ้าในการผลิตอาหารที่จำเป็นต่อประชากรแต่ละคนเท่ากับ 3,000 ลิตรต่อวัน เทียบกับการดื่มอย่างเดียว 2 ลิตรต่อวัน

99% ของนํ้าจืดบนโลกนี้เป็นนํ้าใต้ดิน ในภูมิภาคเอเชียคุณภาพนํ้าคาดว่าจะเสื่อมโทรมลงอย่างรุนแรง จากการใช้ปุ๋ย และยาฆ่าแมลงอย่างไม่ระมัดระวัง และการขาดการบำบัดนํ้าเสียที่ดีเพียงพอ

หัวใจหาจุดสมดุลภาคเกษตร-อุตฯ

“ฉู ดองยู ผู้อำนวยการใหญ่ เอฟเอโอ กล่าวว่า ประเทศต่าง ๆ ควรสร้างธรรมาภิบาลในการใช้นํ้า การกำหนดต้นทุนนํ้า กฎเกณฑ์สำหรับการจัดสรรทรัพยากรนํ้าให้ภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเหมาะสม และมีมาตรการจูงใจสำหรับการใช้นํ้าอย่างยั่งยืน เราต้องมีการบริหารจัดการนํ้าที่เชื่อมโยงกัน โดยสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่บริหารจัดการนํ้า ที่ดิน และทรัพยากรอื่น ๆ ทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาค ประเทศต่าง ๆ ควรลงทุนเพื่อสร้างกลไกบริหารจัดการนํ้าที่มีประสิทธิภาพ นวัตกรรม ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีการชลประทาน และการกักเก็บนํ้าสมัยใหม่ การแก้ปัญหาบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ เพื่อตอบสนองต่อการแย่งชิงนํ้าจากภาคผลิต ภาคอาหาร และภาคพลังงาน

“หัวใจของการทำงานในด้านนี้คือการหาจุดสมดุล ระหว่างปริมาณนํ้าที่ใช้ในภาคการเกษตรและภาคอื่น ๆ ที่มาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายตัวของเมืองที่รวดเร็วขึ้น”

โลกสูญเสียนํ้าจืดครั้งใหญ่

 ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ทรัพยากรนํ้าจืดบนโลกสูญเสียไปประมาณ 1 ใน 5 ของนํ้าจืดทั้งหมด ในบางภูมิภาคการสูญเสียนํ้าจืดอยู่สูงถึง 1 ใน 3 นอกจากนี้ยังมีความท้าทายจากการปนเปื้อนของแหล่งนํ้า การขุดเจาะนํ้ามาใช้มากเกินไป และการขาดความร่วมมือในการบริหารจัดการ เพราะฉะนั้นการรับมือกับวิกฤติสภาพอากาศด้วยการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ทำให้เกิดผลกระทบอันใหญ่หลวงกับสิ่งแวดล้อม และสังคม

เอฟเอโอแนะนำให้ประเทศต่าง ๆ พิจารณาทางออกที่เป็นธรรมชาติในการบริหารจัดการนํ้า เช่นโครงการระบายนํ้าขนาดเล็ก

นอกจากนี้รัฐบาลต่าง ๆ ต้องเร่งดำเนินการให้การผลิตอาหารและสินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตรใช้นํ้าน้อยลง อนุรักษ์ระบบที่เกี่ยวกับดินและนํ้า มีการลงทุนด้านเทคโนโลยี การชลประทาน การกำจัดนํ้าเสีย และการนำนํ้ากลับมาใช้ใหม่

ทุกภาคต้องได้ความมั่นคงนํ้าเท่าเทียม

เอฟเอโอแนะนำให้ประเทศต่าง ๆ ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประชากรแต่ละกลุ่มต่อการใช้นํ้า ไม่ว่าจะเป็นการใช้ตามกรอบกฎหมายทางการ หรือไม่เป็นทางการ เพื่อให้กลุ่มต่าง ๆ รวมถึงคนในชนบท และกลุ่มชาติพันธุ์ได้มีความมั่นคงทางนํ้าเท่าเทียมกัน ภาคเอกชนสามารถนำการเปลี่ยนแปลง โดยกระตุ้นให้มีการใช้นํ้าอย่างยั่งยืน ลดการปนเปื้อนด้วยมลพิษของนํ้าตลอดห่วงโซ่อาหาร และปรับปรุงธรรมาภิบาลด้านนํ้าในทุกระดับ

ชาวนาจะต้องมีข้อมูลและเครื่องมือที่ถูกต้องในการบริหารนํ้าอย่างยั่งยืน เนื่องจากต้องพึ่งพานํ้า ในขณะที่ประชาชนทั่วไปควรเลือกบริโภคสินค้าอาหารด้วยความตระหนักถึงทรัพยากรนํ้า เช่นเลือกอาหารที่ผลิตในประเทศ ตามฤดูกาลและใช้นํ้าน้อย รวมถึงการลดการสูญเสียอาหาร และป้องกันการปนเปื้อนของสารพิษในนํ้า.