นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า การประชุมบอร์ด กกพ. เมื่อ 8 พ.ย. ได้มีมติรับทราบภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจริงประจำเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 และเห็นชอบการคำนวณประมาณการค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวด ม.ค.-เม.ย. 67 พร้อมกับให้สำนักงาน กกพ. นำค่า Ft ที่ประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปรับฟังความคิดเห็น ใน 3 ทางเลือก ตั้งแต่ 10-24 พ.ย. 66

ทั้งนี้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG ในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงในช่วงกลางปี 66 ส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าจริงที่เกิดขึ้นในรอบ Ft งวด พ.ค.-ส.ค. 66 มีค่าต่ำกว่าประมาณการ ประกอบกับมีเงินส่งคืนส่วนต่างราคาก๊าซจากการดำเนินการตามมติ กพช. ในวันที่ 25 พ.ย. 65 จาก บมจ.ปตท. ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงในรอบ พ.ค.-ส.ค. 66 มีค่าต่ำกว่าประมาณการ และทำให้ กฟผ. มีภาระต้นทุนคงค้างลดลงเหลือ 95,777 ล้านบาท ในปลายเดือน ส.ค. 66 ปัจจุบันสถานการณ์ราคา LNG ในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาขึ้นตามความต้องการใช้ LNG ที่เพิ่มมากขึ้นตามสภาพฤดูหนาวในยุโรป และส่งผลให้การประมาณการต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในรอบ ม.ค.-เม.ย. 67 เพิ่มขึ้นเป็น 64.18 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งสะท้อนปริมาณการนำเข้า LNG เพื่อชดเชยก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ดังนั้นจึงกำหนดแนวทางการเปลี่ยนแปลงดังนี้

สำหรับ กรณีที่ 1 (จ่ายคืนภาระต้นทุนค้างทั้งหมด) แบ่งเป็น Ft ขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค.-เม.ย. 67 จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 95,77 7 ล้านบาทในงวดเดียว รวมเท่ากับ 216.42 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย แล้วทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.95 บาทต่อหน่วย ตามรายงานการคำนวณตามสูตรเอฟที

กรณีที่ 2 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 1 ปี) แบ่งเป็นFtขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อทยอยชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 งวด งวดละจำนวน 31,926 ล้านบาท รวมเท่ากับ 114.93 สตางค์ ต่อหน่วยสำหรับเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 4.93 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 3 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 2 ปี) แบ่งเป็น Ft ขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อทยอยชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 6 งวด งวดละจำนวน 15,963 ล้านบาท รวมเท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย สำหรับเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 4.68 บาทต่อหน่วย

ปัจจุบันก๊าซธรรมชาติในอ่าวยังอยู่ระหว่างปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 200-400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในเดือน เม.ย. 2567 ดังนั้นจึงจำเป็นต้องนำเข้า LNG เพื่อชดเชยก๊าซในอ่าวไทย ซึ่งหากมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจะทำให้ต้องนำเข้า LNG เพิ่มมากขึ้นอีกตามลำดับ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังยืดเยื้อ ประกอบกับสงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสที่เกิดขึ้นใหม่ ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนราคาน้ำมันดิบดูไบ และราคา LNG มีความผันผวนสูง จึงมีความเสี่ยงที่ตันทนค่าไฟฟ้าในรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 และ ม.ค.-เม.ย. 2567 เปลี่ยนแปลงไปจากประมาณการ อย่างไรก็ตาม กกพ. จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริหารจัดการต้นทุนค่าเชื้อเพลิงให้มีประสิทธิภาพในราคาที่เหมาะสม มีความมั่นคง และเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเปลี่ยนแปลงไป