จากเดิมที่บอกว่าจะไม่มีการกู้เงิน มาทำนโยบายประชานิยม ทำให้เวลานี้ “เสี่ยนิด” กำลังตกอยู่ในอาการ เมาหมัด อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงขนาดที่ออกจากเวทีแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล โดยไม่ยอมตอบคำถามของสื่อมวลชนแม้แต่คำถามเดียว มีแต่เพียงบรรดาลูกพรรคของพรรคเพื่อไทย ที่ระดมกันออกมาตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามแบบข้างๆ คูๆ โดยใช้ความรู้สึกเป็นหลัก มากกว่าการนำเสนอข้อมูล  ข้อเท็จจริงที่ยังคาใจต่อนโยบายดังกล่าว

ลำพังเพียงแค่เจอ “อ.ไหม” ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ กางข้อมูลถล่มรัฐบาลรายวันที่ว่าหนักแล้ว แต่ก็ยังไม่เท่ากับความเคลื่อนไหวขององค์กรอิสระ ที่ขยับตัวตรวจสอบเรื่องนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตห่างชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนส่งถึงรัฐบาลค่อนข้างแรง เพื่อให้ทบทวนนโยบายดังกล่าว ไม่เว้นแม้แต่ท่าทีจาก คณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เริ่มออกมาตั้งข้อสังเกตถึงการเสนอกฎหมายกู้เงิน ที่ต้องรักษาวินัย การเงิน การคลัง ของประเทศ และที่สำคัญต้องไม่ขัดกับ รัฐธรรมนูญ กฎหมายสูงสุดของประเทศ

หากย้อนไปถึงรัฐบาลสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เข็นนโยบาย จำนำข้าว สวนกระแสสังคม ที่อยากให้ทบทวน เพราะเกิดการทุจิต แต่ “นายกฯ หญิง” คนแรกของประเทศไทย ก็ ไม่ได้นำพา ในทางกลับกันยังเร่งเดินหน้านโยบาย จนเรื่องแดงไปถึง ป.ป.ช. และถูก ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินพิพากษาจำคุก จนต้องหลบหนีออกนอกประเทศ ถึงแม้ตอนนี้ชะตากรรมของ “เสี่ยนิด” จะยังห่างไกลกับปลายทาง ในสมัยที่ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” เคยเจอ แต่ก็ต้องยอมรับว่า สถานการณ์ในภาพรวม ที่ออกมาต่อต้านนโยบายประชานิยม แทบไม่ต่างกัน

ทั้งนี้ กฎหมายกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่ “นายกรัฐมนตรี” อยากจะผลักดันนั้น ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยากพอสมควร เพราะต่อให้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปได้ตามมารยาทางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาล ก็ต้องไปเจอด่าน “วุฒิสภา” และด่านที่ยากที่สุดอย่าง “ศาลรัฐธรรมนูญ” ซึ่งในอดีต ศาลรัฐธรรมนูญ ก็เคยคว่ำกฎหมาย กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพราะศาลรัฐธรรมนูญ มองว่า ยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน จนทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลในขณะนั้น ต้องรับผิดชอบทางการเมือง เนื่องจากไม่อาจผลักดันกฎหมายทางการเงินให้ผ่านได้ 

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้หลายฝ่ายจับตาไปที่ ท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล ว่าจะสนับสนุนนโยบายของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ เพราะจะต้องมีการยกมือสนับสนุนทั้งในการประชุม ครม. และสภาผู้แทนราษฎร ในการออกกฎหมาย แม้ตอนนี้  “เสี่ยนิด” จะมั่นใจว่า  เสียงของพรรคร่วมรัฐบาล 320 เสียง มั่นคง และเชื่อว่ากฎหมายกู้เงิน 5 แสนล้านบาท จะผ่านสภาอย่างแน่นอน 

แต่ในอีกด้านหนึ่ง บรรดาแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ย่อมต้องมองถึงอนาคตว่า หากยกมือสนับสนุน สวนกระแส อาจทำให้ปลายทาง ต้องเข้ามาร่วมรับผิดชอบด้วย ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลคงไม่ยอมเอาชีวิตทางการเมืองไปแขวนไว้กับ ป.ป.ช. อย่างแน่นอน

ดังนั้นเกมนี้อาจจะไม่ง่ายอย่างที่ “นายกรัฐมนตรี” คิด!!