จากกรณีมีการพบตัวอิกัวน่าเขียว แพร่กระจายพันธุ์เป็นจำนวนมาก ในพื้นที่ชุมชนเขาพระยาเดินธง หมู่ 3 ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน เนื่องจากบรรดาเหล่าอิกัวน่าได้เข้าไปกินพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ประชาชน อีกทั้งยังหวาดกลัวจะเกิดเชื้อซาลโมเนลลา ทำให้หลายหน่วยงานต่างให้ความสนใจ รวมทั้งหาวิธีการป้องกันการแพร่กระจายพันธุ์ของอิกัวน่าเขียว นั้น

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 16 พ.ย. คณะของส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี พร้อมด้วยเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณพื้นที่ชุมชนเขาพระยาเดินธง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เพื่อประเมินสภาพถิ่นที่อยู่อาศัย การกระจายตัวและจำนวนประชากรอิกัวน่าเขียวในบริเวณดังกล่าว รวมทั้งยังได้เดินทางไปบริเวณหนองกระดิ่ง หมู่ 3 ต.พัฒนานิคม ซึ่งเป็นแหล่งน้ำและเป็นจุดพักผ่อนริมทาง โดยพบว่าจุดดังกล่าวพบอิกัวน่าหลายตัวอาศัยอยู่ตามต้นไม้ บางตัวมีสีเขียว ซึ่งสีเขียวสามารถพบได้ทั้งเพศผู้และเพศเมีย ส่วนสีเหลือง น้ำตาล ตัดสีดำ ส่วนใหญ่เจอในเพศผู้

จากการลงพื้นที่สำรวจครั้งนี้หลายตัวมีขนาดเล็กตั้งแต่ 10-20 ซม. ซึ่งคาดว่าเป็นรุ่นลูกที่มีขยายพันธุ์ออกมา จนถึงรุ่นพ่อรุ่นแม่ความยาวประมาณ 30-40 ซม. บางตัวมีลำตัวใหญ่ น้ำหนักราว 10 กก.ขึ้นไป เจ้าหน้าที่จึงได้ปีนต้นไม้นำตะขอบ่วงขึ้นไปจับ บางตัวมีความว่องไวได้หนีลงหนองน้ำไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งอิกัวน่าที่จับได้ ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า จะได้ส่งไปศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 นครนายก ดูแลต่อไป

นายสุทธิพงษ์ แกมทับทิม ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากกรมอุทยานฯ มาดำเนินการสำรวจประชากรของอิกัวน่า โดยพบว่าจากการสำรวจด้วยตาคร่าวๆ ยังไม่ถึง 100 ตัว ส่วนความเดือดร้อนของประชาชนพบว่ามีบางกรณีไปกัดกินพืชผักสวนครัวของชาวบ้าน ซึ่งวันนี้เป็นการทดลองจับ แต่จะต้องมีการหามาตรการ รวมทั้งดูพฤติกรรมและเทคนิคแนวทางในการจับในครั้งต่อไป โดยจะต้องมีการระดมพลและเครื่องมือในการจับเพื่อนำส่งศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 นครนายก

สำหรับกรณีที่มีประชาชนจากพื้นที่อื่นเข้ามาจับอิกัวน่าเขียวไปดูแลหรือไปเลี้ยงนั้น นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า อิกัวน่าเขียว เป็นสัตว์ป่าควบคุมกลุ่มที่ 1 ที่ได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศฯ ซึ่งหากพบเห็นให้แจ้งสายด่วน 1362 กรมอุทยานแห่งชาติฯ ซึ่งจะมีการประสานเจ้าหน้าที่ไปดักจับ เพื่อส่งดูแลต่อ หากจับได้ก็ถือเป็นการช่วยเหลือสัตว์ป่า และควรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจลงบันทึกประจำวัน จากนั้นแจ้งเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ให้มารับต่อไป

จากข่าวที่ว่ามีการปล่อยมาจากฟาร์มที่เลี้ยงไว้ในช่วงที่ไม่บูม นายสุทธิพงษ์ ตอบว่าจากการสอบถามชาวบ้าน ทราบว่ามีการพบอิกัวน่ามานานกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งไม่ทราบว่ามาจากไหน แต่มีการเจริญพันธุ์ เจริญเติบโตตามธรรมชาติ จนสังเกตว่าอิกัวน่าที่นี่บางตัวตัวใหญ่มาก แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าถูกปล่อยมาจริงหรือไม่ แต่หากมีการยืนยันก็อาจจะมีการดำเนินคดีได้.